หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » อรวรรณ ศิลปกิจ
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๒ ครั้ง
การสร้างแบบประเมินสติ
ชื่อผู้วิจัย : อรวรรณ ศิลปกิจ ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ)
  บรรจบ บรรณรุจิ
  ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

                                            บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ 1. เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องสติในคัมภีร์พระพุทธศาสนา 2. เพื่อศึกษาแบบประเมินสติตามแนวคิดคาบัทซิน (Kabat-Zinn) และ 3. เพื่อสร้างแบบประเมินสติตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาท วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาเอกสารและภาคสนาม ด้วยการวิเคราะห์แนวคิดสติในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และสติตามแนวคิดของคาบัทซิน เพื่อสร้างแบบประเมินสติ ทดสอบในกลุ่มตัวอย่าง 4 กลุ่มคือ กลุ่มบุคลากรกรมสุขภาพจิต ผู้ป่วยโรคระบบทางกาย กลุ่มผู้เข้าอบรมปฏิบัติธรรม  และกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยเสื่อม และจิตเภท

          ผลการวิจัยพบว่าแนวคิดเรื่องสติในพระไตรปิฎกด้วยวัตถุประสงค์หลักคล้อยตามกัน ขึ้นกับผู้ฟังและอัธยาศัยของพระพุทธเจ้าในการตรัสสอน  โดยปรากฏเป็น 2 ระดับคือสติและสัมมาสติ เหตุหลักของสัมมาสติ คือ สติปัฏฐาน 4 โดยที่สติจะเหนี่ยวนำคุณธรรมฝ่ายโสภณเจตสิกอีก 24 ประการให้มาประกอบพร้อมในจิต ส่วนแนวคิดสติของคาบัทซิน ประกอบด้วยมิติการรู้คิด 7 ข้อและอารมณ์ 5 ข้อเช่น เปิดกว้าง เมตตา เป็นคำนิยามเชิงปฏิบัติเพื่อการพัฒนาตน และสามารถประเมินผลด้วยสติบำบัดได้ แต่ไม่ได้ขัดแย้งกับแนวคิดพระพุทธศาสนาเถรวาท    แบบประเมินตามแนวคิดคาบัทซิน  เป็นแบบสอบถามประเมินตนเอง ข้อคำตอบประเมินค่าระหว่าง 4-7 ช่วงคะแนน มีจำนวนข้อคำถามระหว่าง 10-39 ข้อ จำแนกเป็นด้านระหว่าง 1-5 ด้าน ซึ่งมีข้อจำกัดในการประยุกต์ในประเทศไทย ด้วยวัฒนธรรมและแนวคิดที่แตกต่างกัน

          แบบประเมินสติที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมี 30 ข้อ มีความตรงเชิงเนื้อหาด้วยการคัดเลือกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านคลินิก 7 คน มีข้อคำถามคงอยู่ 25 ข้อ ทดสอบความเที่ยงเบื้องต้นในกลุ่มตัวอย่าง 41 คนเพื่อประเมินความสอดคล้องภายในรายข้อ และความสอดคล้องทั้งฉบับมีค่าในระดับปานกลาง (Cronbach’s alpha 0.783) ความเที่ยงในการวัดซ้ำห่างกัน 1 สัปดาห์อยู่ในเกณฑ์พอใช้ (Pearson intraclass correlation coefficient = 0.56)

          ศึกษาความตรงเชิงโครงสร้างด้วยการสำรวจตัวประกอบในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคระบบทางกายที่มารับการรักษา โรงพยาบาลศรีธัญญาจำนวน 101 คนและกลุ่มเข้ากลุ่มผู้เข้าอบรมปฏิบัติธรรมหลักสูตร 5 วันของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย บางแคจำนวน 149 คน รวม 250 คน ผลการศึกษา ได้คัดข้อคำถามเหลือ 15 ข้อ แยกเป็น 3 ด้าน ๆ ละ 5 ข้อคือด้านตระหนักรู้ ด้านอัตโนมัติและด้านตั้งใจ  นำแบบสอบถามที่ได้เพื่อยืนยันตัวประกอบในกลุ่มตัวอย่างบุคลากรจำนวน 160 คน เพื่อยืนยันโครงสร้างแบบประเมินสติ ประกอบด้วยข้อคำถาม 15 ข้อแยก แต่ละมิติตามที่สำรวจในกลุ่มตัวอย่างแรก ผลการศึกษา ค่าดัชนีความสอดคล้องเป็นไปตามเกณฑ์กำหนด ข้อมีค่าน้ำหนักของปัจจัยระหว่าง 0.280 – 0.934 โดยที่ด้านตระหนักรู้และด้านตั้งใจมีค่าน้ำหนักของปัจจัยในระดับสูง ส่วนอัตโนมัติมีค่าน้ำหนักระดับต่ำ และเป็นไปในทิศทางลบ

          แบบสอบถามมีความสอดคล้องภายในทั้งฉบับและรายด้านในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด กลุ่มย่อย 3 กลุ่มอยู่ในระดับพอใช้ถึงระดับดี   ค่า Cronbach’s alpha ของแบบสอบถามทั้งฉบับ ตระหนักรู้ ตั้งใจ และอัตโนมัติ ตามลำดับดังนี้ 0.728, 0.817 0.704 และ 0.667  และมีความตรงเชิงจำแนกกับแบบประเมินวิตกกังวลซึมเศร้า Hospital Anxiety Depression (HAD) ส่วนวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญ (ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ Pearson รวม และรายด้านอยู่ระหว่าง  - 0.410 ถึง 0.00) มีอำนาจเชิงจำแนกระหว่างกลุ่มที่มีความเครียดต่างกันได้อย่างมีนัยสำคัญ และกลุ่มที่ฝึกสติต่างกันได้อย่างมีนัยสำคัญ  และมีความตรงร่วมสมัยกับแบบประเมิน Philadelphia Mindfulness Scale (PHLMS) ฉบับภาษาไทยในระดับพอใช้

          ผลการทดสอบแบบประเมินสติฉบับ 15 ข้อในผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมและจิตเภทจำนวน 159 คน พบว่าแบบประเมินสติ มีความสอดคล้องภายในระดับดีมาก และมีความตรงร่วมสมัยกับ PHLMS ด้านตระหนักรู้ในระดับดี

          สรุปแบบประเมินสติประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน 15 ข้อ มีเนื้อหาอิงหลักสติปัฏฐาน 4 จำแนกตามหมวดกาย 4 ข้อ หมวดเวทนา 2 ข้อ หมวดจิต 6 ข้อ และหมวดธรรม 3 ข้อ มีความตรงเชิงเนื้อหา ความเที่ยง ความสอดคล้องภายใน ความตรงเชิงโครงสร้างและจำแนก ในกลุ่มตัวอย่างหลากหลาย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้มีประสบการณ์การอบรมวิปัสสนาเบื้องต้น และผู้ดูแลผู้ป่วย

 ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕