หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สายน้อย คำชู
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๙ ครั้ง
ผลการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามหลักไตรสิกขาที่มีต่อความเข้าใจความจริงของชีวิตและภาวะซึมเศร้า : กรณีศึกษาผู้ปกครองที่มีภาวะซึมเศร้าจากการดูแลเด็กป่วยเรื้อรังของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(ชีวิตและความตาย)
ชื่อผู้วิจัย : สายน้อย คำชู ข้อมูลวันที่ : ๓๑/๐๑/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเอกภัทร อภิฉนฺโท
  เรียม ศรีทอง
  ประยูร สุยะใจ
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์ 6 ประการคือ (1) เพื่อเปรียบเทียบความเข้าใจความจริงของชีวิตของผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรัง ระหว่างก่อนการทดลองกับหลังการทดลอง ของกลุ่มทดลอง (2) เพื่อเปรียบเทียบความเข้าใจความจริงของชีวิตของผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรัง ระหว่างหลังการปิดกลุ่มทันทีกับระยะติดตามผลหลังการปิดกลุ่ม 1 เดือน ของกลุ่มทดลอง (3) เพื่อเปรียบเทียบภาวะซึมเศร้า ของผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรัง ระหว่างก่อนการทดลองกับหลังการทดลอง ของกลุ่มทดลอง (4) เพื่อเปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าของผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรัง ระหว่างหลังการปิดกลุ่มทันทีกับระยะติดตามผลหลังการปิดกลุ่ม 1 เดือน ของกลุ่มทดลอง (5) เพื่อเปรียบเทียบความเข้าใจความจริงของชีวิตของผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรัง ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม หลังการทดลอง และ (6) เพื่อเปรียบเทียบภาวะซึมเศร้าของผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรัง ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม หลังการทดลอง

กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา เป็นผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรังของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้มาโดยการคัดกรองภาวะซึมเศร้า และมีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัย แล้วสุ่มอย่างง่ายเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 8 คน โดยกลุ่มทดลองได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามหลักไตรสิกขา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) แบบประเมินความเข้าใจความจริงของชีวิต มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.762 (2) แบบวัดภาวะซึมเศร้า มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.658 และ (3) แบบประเมินในการเข้ารับบริการ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.57 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที

ผลการวิจัยพบว่า (1) ภายหลังการทดลอง ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรังที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามหลักไตรสิกขามีความเข้าใจความจริงของชีวิตสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  (2) ภายหลังการปิดกลุ่มทันทีกับระยะติดตามผลหลังการปิดกลุ่ม 1 เดือน ของผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรังที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามหลักไตรสิกขามีความเข้าใจความจริงของชีวิตไม่แตกต่างกัน (3) ภายหลังการทดลอง ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรังที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามหลักไตรสิกขามีภาวะซึมเศร้าต่ำกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (4) ในระยะติดตามผลหลังการปิดกลุ่ม 1 เดือน ของผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรังที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามหลักไตรสิกขามีภาวะซึมเศร้าต่ำกว่าหลังการปิดกลุ่มทันที อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งแสดงว่าผู้ปกครองได้นำไตรสิกขาไปพัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง เมื่อเข้าใจความจริงของชีวิตทำให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ รู้จักวางท่าทีของจิตใจได้ถูกต้อง ทำให้มีความสุขและไร้ทุกข์อย่างแท้จริง   (5) ภายหลังการทดลองผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรังที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามหลักไตรสิกขามีความเข้าใจความจริงของชีวิตสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (6) ภายหลังการทดลองผู้ปกครองที่ดูแลเด็กป่วยเรื้อรังที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามหลักไตรสิกขามีภาวะซึมเศร้าต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕