หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » กีรติ กมลประเทืองกร
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๘ ครั้ง
รูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงบูรณาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ชื่อผู้วิจัย : กีรติ กมลประเทืองกร ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๐๑/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  เติมศักดิ์ ทองอินทร์
  บุญทัน ดอกไธสง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒) เพื่อศึกษา แนวคิด ทฤษฎีและหลักพุทธธรรมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงบูรณาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์แบบชิงลึก (In–depth Interview) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๓๐ รูป/คน และการสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus Group Discussion) โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๑๐ รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย เขียนแบบพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

               ผลการวิจัยพบว่า

๑. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พบว่า      มีการจัดฝึกอบรมเพื่อที่จะเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคลากรให้เป็นบุคคลที่มีความรู้  ความสามารถ มีทักษะ และเสริมประสบการณ์ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีประกาศและระเบียบที่เป็นมาตรฐานรองรับในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นการวางแผนที่ดีที่จะสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ให้กลายเป็นองค์กรที่จะมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต

๒. ทฤษฎีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของ Leonard Nadler คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการอบรม การศึกษาและการพัฒนา ซึ่งมีการจัดชุดของกิจกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคลากรในองค์กร และประสิทธิภาพการปฏิบัติงานสอดคล้องกับหลักภาวนา ๔ เป็นหลักที่ว่าด้วยแนวทางแห่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านกายภาวนา คือ การหมั่นพัฒนากายให้ก่อเกิดประโยชน์ สีลภาวนาเป็นการหมั่นฝึกกายวาจาให้เกิดความบริสุทธิ์ สะอาด จิตตภาวนาเน้นการทำให้จิตใจเกิดความใสบริสุทธิ์ สะอาด สงบนิ่งด้วยแนวทางแห่งสมาธิ และสุดท้ายคือปัญญาภาวนา หรือการเข้าถึงองค์ความรู้ที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดในสิ่งทั้งปวงตามที่มันเป็นจริงหรือแนวทางแห่งปัญญา

๓. รูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงบูรณาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น จากการศึกษา พบว่า การพัฒนาด้านกายภาวนาเป็นการการฝึกพัฒนากายหรือฝึกสำรวมระวังกายและหมั่นพัฒนากายให้ก่อเกิดประโยชน์ ขณะที่การพัฒนาด้านสีลภาวนาจะเน้นพัฒนาพฤติกรรมทางกายและวาจาให้บริสุทธิ์ สะอาดตามแนวทางแห่งปาริสุทธิศีล ๔ ส่วนการพัฒนาด้านจิตตภาวนาเป็นการพัฒนาสมรรถภาพของจิตใจ ให้มีความเข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง และสุดท้ายการพัฒนาด้านปัญญาภาวนาเป็นการพัฒนาเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายที่อิงอาศัยและรู้เท่าทันความจริงของสังขารที่เปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ

ผลจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงบูรณาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดังกล่าว ทำให้บุคลากรมีการให้ความสำคัญตั้งแต่การพัฒนาในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ พฤติกรรม เรื่องของสมาธิ ความตั้งใจเจตนา รวมถึงเจตจำนงที่จะกลายเป็นแรงจูงใจให้เกิดความเจริญงอกงามในตน ในองค์กร และในภารกิจหน้าที่ที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายรับผิดชอบ และที่สำคัญคือพัฒนาเป็นผู้ที่มีปัญญารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่มีขึ้นในทุกห้วงเวลา

 

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕