หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ณัชปภา วาสิงหน
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
การแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีในสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : ณัชปภา วาสิงหน ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๔
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  (๑) เพื่อศึกษาความขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีในสังคมไทย  (๒) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุความขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีในสังคมไทย  และ (๓)  เพื่อเสนอการแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีในสังคมไทย   ผลการวิจัยพบว่าความขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีในสังคมไทยเป็นผลมาจากทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับภิกษุณีและการบวชภิกษุณีซึ่งก่อให้เกิดทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนการบวชภิกษุณี   ความขัดแย้งเกี่ยวกับภิกษุณีมี ๔ ประเด็นหลัก คือ (๑) พุทธประสงค์ในการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์  (๒) ภิกษุณีกับอันตรายต่อการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุสงฆ์  (๓) ภิกษุณีกับปัญหาความสมดุลของโครงสร้างทางสังคม  และ (๔) เจตนารมณ์การรื้อฟื้นภิกษุณี  ความขัดแย้งเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีมี ๓ ประเด็นหลัก  คือ (๑) การบวชภิกษุณีตามพระวินัย  (๒) การทดแทนการบวชภิกษุณีเถรวาทด้วยการบวชชี  และ (๓) การบวชภิกษุณีกับความรับผิดชอบของคณะสงฆ์ไทย

ส่วนที่เกี่ยวกับภิกษุณี  ฝ่ายคัดค้านการบวชภิกษุณีมีทัศนะว่าพระพุทธเจ้าไม่มีพระประสงค์ที่จะประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ขึ้นมาในพระพุทธศาสนา   ภิกษุณีสงฆ์เกิดจากเหตุปัจจัยภายนอกบางอย่างที่ผลักดันให้ในที่สุดพระพุทธเจ้าจำต้องอนุญาตให้มีภิกษุณีสงฆ์  ภิกษุณีเป็นอันตรายต่อการประพฤติพรหมจรรย์ของภิกษุสงฆ์   เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจึงไม่ควรมีภิกษุณีขึ้นมาในคณะสงฆ์  ปัญหาความสมดุลของโครงสร้างทางสังคมไม่เกี่ยวข้องกับการไม่มีภิกษุณีสงฆ์   และเจตนารมณ์ในการรื้อฟื้นภิกษุณีในสังคมไทยเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์แต่เป็นเรื่องการยึดติดรูปแบบความเป็นนักบวชของสตรีบางกลุ่มและเป็นการเลียนแบบแนวคิดสิทธิสตรีของโลกตะวันตก    ส่วนที่เกี่ยวกับการบวชภิกษุณี   การบวชภิกษุณีไม่สามารถกระทำได้อย่างถูกต้องตามพระวินัย  ไม่ว่าโดยการบวชจากสงฆ์ฝ่ายเดียวหรือสองฝ่าย  การบวชจากสงฆ์ฝ่ายเดียวถือว่าได้ยกเลิกไปแล้ว  ส่วนการบวชจากสงฆ์สองฝ่ายไม่สามารถกระทำได้เพราะภิกษุณีสงฆ์เถรวาทผู้ทำหน้าที่เป็นปวัตตินีซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการบวชได้สูญสิ้นไปแล้ว   การทดแทนการบวชภิกษุณีเถรวาทด้วยการบวชชีถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับสตรีที่ประสงค์จะเป็นนักบวชในสังคมไทย  และการแก้ปัญหาบวชภิกษุณีในสังคมไทยถือว่าอยู่พ้นอำนาจความรับผิดชอบของคณะสงฆ์ไทย     

ฝ่ายสนับสนุนการบวชภิกษุณีมีทัศนะตรงกันข้ามกับฝ่ายคัดค้านการบวชภิกษุณีทุกประเด็น   จากการศึกษาข้ออ้างของทั้งสองฝ่าย  พบว่าข้ออ้างของฝ่ายคัดค้านการบวชภิกษุณีในสังคมไทยทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับภิกษุณีและการบวชภิกษุณี  ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและหลักการของพระพุทธศาสนา   ส่วนที่เกี่ยวกับภิกษุณี   เชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้ามีพระประสงค์ที่จะประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ขึ้นมาอย่างแท้จริง   ทั้งภิกษุและภิกษุณีต่างเป็นอันตรายต่อการประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งกันและกัน   การเรียกร้องต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม  การไม่มีภิกษุณีสงฆ์มีผลกระทบต่อโครงสร้างความสมดุลของสังคมตามหลักปฏิจจสมุปบาทและขัดต่อหลักพุทธบริษัท ๔ ซึ่งเป็นสังคมอุดมคติในพระพุทธศาสนา  และการเรียกร้องการบวชภิกษุณีไม่ว่ามาจากความยึดติดในรูปแบบการเป็นนักบวชหรือเพราะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก  โดยหลักเหตุผลถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ความชอบธรรมในการเรียกร้องเสียไป  ส่วนที่เกี่ยวกับการบวชภิกษุณี  การบวชภิกษุณีสามารถกระทำได้อย่างถูกต้องตามพระวินัย  ทั้งโดยวิธีการบวชจากสงฆ์ฝ่ายเดียวหรือสองฝ่าย   กรณีบวชจากสงฆ์ฝ่ายเดียวพระพุทธเจ้าไม่ได้ประกาศยกเลิก  ส่วนกรณีบวชจากสงฆ์สองฝ่ายในปัจจุบันนี้ก็มีสงฆ์สองฝ่ายอยู่ครบถ้วน  การทดแทนการบวชภิกษุณีเถรวาทด้วยการบวชชีถือเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งของสตรีแต่ทดแทนการบวชภิกษุณีไม่ได้   และการแก้ปัญหาการบวชภิกษุณีในสังคมไทยถือเป็นอำนาจความรับผิดชอบของคณะสงฆ์ไทย  

สาเหตุพื้นฐานของการคัดค้านการบวชภิกษุณีในสังคมไทยมาจากปัจจัยหลัก  ๓ ประการ  คือ (๑) ตัณหา  (๒) ทิฏฐิ  และ (๓) มานะ  โดยตัณหาคือความอยากปกป้องระบบปิตาธิปไตยและอัตลักษณ์ของเถรวาทของผู้ที่ได้ประโยชน์จากอุดมคติดังกล่าว  ทิฏฐิคือวาทกรรมต่างๆ ที่มุ่งให้เกิดความเข้าใจว่าการบวชภิกษุณีเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นไปไม่ได้  และมานะคือท่าทีที่มุ่งปฏิเสธการแก้ปัญหาการบวชภิกษุณีอย่างสร้างสรรค์  หากกลับมุ่งรักษาสภาพด้อยโอกาสของสตรีให้คงอยู่ต่อไป   การแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีในสังคมไทย  ประเด็นสำคัญต้องกลับไปมีทิฏฐิที่ถูกต้องทั้งที่เกี่ยวกับภิกษุณีและการบวชภิกษุณี  หรือการกลับไปยึดถือหลักการและเจตนารมณ์การเกิดขึ้นของภิกษุณีในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธบัญญัติว่าด้วยการบวชภิกษุณีของพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕