หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เจ้าอธิการจักรกฤษณ์ กลฺยาณธโร (จำเริญพร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์บทบาทกัลยาณมิตรในการเจริญกรรมฐาน
ชื่อผู้วิจัย : เจ้าอธิการจักรกฤษณ์ กลฺยาณธโร (จำเริญพร) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี
  อานนท์ เมธีวรฉัตร
  รุ่งอรุณ อบเชย
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ


                                                    บทคัดย่อ



วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ คือ ๑) เพื่อศึกษาลักษณะทั่วไปของมิตร คุณสมบัติ และคุณธรรมของกัลยาณมิตรในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดและความสำคัญของการเจริญกรรมฐานในพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อวิเคราะห์ความสำคัญ คุณธรรมและบทบาทของกัลยาณมิตรในการเจริญกรรมฐาน และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการวิจัยเอกสาร เพื่อวิเคราะห์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกัลยาณมิตรและการเจริญกรรมฐาน และสังเคราะห์บทบาทของกัลยาณมิตรในการเจริญกรรมฐาน สรุปผลการวิจัยได้ดังต่อไปนี้

                 ๑) มิตร แบ่งได้เป็น ๒ นัย คือ นัยทางศาสนา หมายถึง คนที่มีไมตรีต่อกัน มีเยื่อใยดี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ อาจเป็นผู้ใหญ่หรือผู้เสมอกันก็ได้  ส่วนอีกนัยหนึ่งตามที่คนเข้าใจทั่วไป มิตร หมายถึง เพื่อน เกลอ ที่คบหากัน สนิทสนมหรืออยู่ใกล้ชิดกัน ความหมายทางศาสนา มิตรจะมีความลึกซึ้งเหนียวแน่น และมีธรรมคือเมตตามากกว่ามิตรที่เรียกว่าเพื่อนตามที่เข้าใจทั่วไป คุณสมบัติของกัลยาณมิตร คือ ลักษณะของบุคคลที่เรียกว่าเป็นสัตบุรุษ มีธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗  คุณธรรมของกัลยาณมิตร ประกอบด้วย พรหมวิหารธรรม โยนิโสมนสิการ สังคหวัตถุธรรม และสัปปุริสธรรม หลักธรรมที่สอดคล้องกับกัลยาณมิตรเพื่อยังผลให้เกิดความสัมพันธ์ในสังคม ประกอบด้วย ฆราวาสธรรม ๔ ทิศ ๖ และกัลยาณมิตรธรรม ๗ สำหรับคุณลักษณะของกัลยาณมิตรในการเจริญกรรมฐาน คือ เป็นกัลยาณมิตรที่ดีตามหลักกัลยาณมิตรธรรม ๗ ที่มีคุณสมบัติที่ถึงพร้อม ๘ ประการ คือ ๑) ความเชื่อ (ศรัทธา)  ๒) การสำรวมกาย วาจา และใจ ๓) การฟัง (สุตะ)  ๔) การเสียสละ (จาคะ)  ๕) ความเพียร (วิริยะ)  ๖) ความระลึกได้ (สติ) ๗) ความตั้งใจมั่น (สมาธิ) และ ๘) ความรอบรู้ (ปัญญา) และประกอบด้วยคุณค่า ๓ ประการ คือ เป็นนิมิตแห่งอริยมรรค  ทำให้อริยมรรคบริบูรณ์ และเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์

                 ๒) กรรมฐาน คือ ที่ตั้งแห่งการงาน อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ  วิธีฝึกอบรมจิตให้มีสติกำหนดรู้เท่าทันทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น กรรมฐานในพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท คือ สมถ กรรมฐาน หมายถึง อุบายหรือวิธีการที่ทำให้จิตเกิดความสงบ และวิปัสสนากรรมฐาน หมายถึง วิธีการที่สร้างให้เกิดปัญญาหยั่งรู้ เห็นแจ้งในสัจธรรมทั้งปวง เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎของไตรลักษณ์

                 ๓) ความสำคัญของกัลยาณมิตรมี ๕ ประการ คือ เป็นจุดเริ่มต้นสู่ชีวิตที่ดี – เป็นผู้ที่รู้ทาง – เหมือนเข็มทิศของชีวิต – มีธรรมเสมอหรือดีกว่าตน – พาให้เกิดสัมมาทิฏฐิ  มีความเป็นกัลยาณมิตรธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ หลักกัลยาณมิตรธรรม ๗ คือ น่ารัก – น่าเคารพ – น่าเจริญใจ – รู้จักพูดให้ได้ผล – อดทนต่อถ้อยคำ – แถลงเรื่องล้ำลึกได้ – ชี้ทางที่ถูกให้ ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของการเป็นกัลยาณมิตรที่ดีที่ชี้นำเหล่าสาวกของพระองค์บรรลุอรหัตผล และในปัจจุบันพระเถระผู้สอนกรรมฐานได้ประสบผลสำเร็จนั้นล้วนยึดหลักกัลยาณมิตรธรรมในการสอนกรรมฐาน สำหรับด้านการประยุกต์ใช้นั้นได้นำหลักกัลยาณมิตรธรรมในแต่ละข้อมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕