หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระชุมพล ฐิตธมฺโม (แก้วนวน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๓ ครั้ง
วิธีการพัฒนาจิตตามแนวกสิณในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระชุมพล ฐิตธมฺโม (แก้วนวน) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสิริรัตนานุวัตร
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษากสิณ ๑๐ ที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒) เพื่อศึกษาถึงวิธีการฝึกกสิณ ๑๐ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อศึกษาวิธีการพัฒนาจิตตามแนวกสิณ ๑๐ ที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท อันได้แก่ พระไตรปิฎก  อรรถกถา  ฎีกา  และคัมภีร์อื่น ๆ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

จากการศึกษาพบว่า กสิณ ๑๐ นั้น เป็นกรรมฐานชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนาเถรวาท จากบรรดากรรมฐานทั้งหมด ๔๐ วิธี ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักวิธีการปฏิบัติเพื่อเป็นวิธีการฝึกอบรมจิตสำหรับพุทธสาวก เป็นกรรมฐานที่มีประสิทธิภาพมาก ทรงพลัง ทำให้จิตเกิดสมาธิได้เร็ว มีอานิสงส์ อานุภาพมาก วิธีการฝึกจิตตามแนวทางแห่งกสิณนั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อทำฌานให้เกิดขึ้น อีกทั้งยังใช้เป็นฐานในการฝึกจิตเพื่อทำอภิญญาให้เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ กสิณยังเป็นกรรมฐานที่สามารถฝึกจิตให้ถึงฌานได้เร็วกว่ากรรมฐานอื่น ๆ ทั้งนี้ก็เพราะการเพ่งกสิณนั้น อุคคหนิมิตและอุปจารสมาธิเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่ออุคคหนิมิต และอุปจารสมาธิเกิดง่าย การได้ฌานนั้นก็เร็ว อีกทั้งยังสามารถพัฒนาจิตให้สูงขึ้นได้ถึงระดับฌานสมาบัติ ๘ และในกรณีที่ได้บรรลุธรรมถึงขั้นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ด้วยแล้ว สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ ซึ่งเป็นอานิสงส์ข้อหนึ่ง อันเกิดจากการฝึกจิตตามแนวทางแห่งกสิณในพระพุทธศาสนาเถรวาท และใช้ฌานนั้นเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน

วิธีการพัฒนาจิตตามแนวกสิณในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ก็คือ เป็นกระบวนการฝึกอบรมจิต เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ฝึกปฏิบัติทั้งในด้านกาย วาจา และใจ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งจิต เป็นการวางรากฐานทางจิตให้มีศักยภาพ พร้อมเหมาะที่จะนำไปใช้ทำงานทางปัญญา กล่าวคือ เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนาโดยมีสมถะเป็นบาท หรือ เรียกว่า “สมถยานิกะ”นั่นเอง ซึ่งเป็นแบบวิธีในทางพระพุทธศาสนาเถรวาท สำหรับใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสภาวะที่เรียกว่า “จิตตวิสุทธิ”

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕