หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหากังวาล ธีรธมฺโม (ศรชัย)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๓ ครั้ง
การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด (พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (การจัดการเชิงพุทธ))
ชื่อผู้วิจัย : พระมหากังวาล ธีรธมฺโม (ศรชัย) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๑๐/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุภกิจ โสทัด
  สุรพล สุยะพรหม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2558
 
บทคัดย่อ

 การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั่วไป ของ การบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด (๒) เพื่อศึกษาการบูรณาการแนวคิด ทฤษฎี และหลักธรรมสำหรับการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด (๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด โดยเน้นองค์ประกอบ ๓ ด้าน คือ ด้านสถานที่ ด้านบุคลากร และด้านการบริหารจัดการระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) เริ่มจากการศึกษาสภาพการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑๕ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมทั่วไป จุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหาอุปสรรค และโอกาส พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะใน ด้านต่าง ๆ จากนั้นได้ศึกษาเอกสาร ตำรา งานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมที่ดี แล้วทำการยกร่างรูปแบบการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมที่ดี โดยทำการประชุมกลุ่มเฉพาะ เพื่อระดมความคิดเห็น และศึกษาหลักธรรมที่นำมาสนับสนุนการบริหารจัดการ ต่อจากนั้นนำร่างรูปแบบการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมดังกล่าว ไปทำการประเมินความเหมาะสมของร่างรูปแบบ เพื่อปรับปรุงนำเสนอต่อไป

ผลการวิจัย
๑. สภาพแวดล้อมทั่วไปของการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑๕ ในปัจจุบัน มีจุดแข็ง คือ มีการส่งเสริมให้มีการศึกษา ปริยัติธรรมและอบรมภาคปฏิบัติภาวนาธรรมแก่พระภิกษุสามเณรภายในสำนัก เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมมีความเอาใจใส่ในการเผยแผ่พระธรรม คณะสงฆ์สนับสนุนการอบรมหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ ส่วนจุดอ่อน คือบางสำนักมีอาคารไม่สามารถรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมจำนวนมากได้ อาคารที่พักมีสภาพเก่าทรุดโทรม เครื่องอำนวยความสะดวกมีไม่เพียงพอ เจ้าสำนักบางแห่งขาดวิสัยทัศน์ ในการปรับปรุงสถานที่ ขาดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ พระวิทยากรขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ขาดการประสานความร่วมมือเรื่องวิทยากรกับสำนักปฏิบัติธรรมอื่น ด้านปัญหาอุปสรรค คือมีสัตว์รบกวนมาก เช่น นกพิราบ สุนัข แมว ไก่ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสโลกาภิวัตน์ และเทคโนโลยีได้ดึงดูดความสนใจพระภิกษุสามเณรออกไปจากการศึกษาสัมมาปฏิบัติ ขาดการส่งเสริมพัฒนาพระภิกษุสามเณรในการศึกษาหลักไตรสิกขา ทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติให้ถึงปฏิเวธอย่างแท้จริงด้านโอกาส คือพระพุทธศาสนาได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศด้านการส่งเสริมสันติภาพ มีการส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการกิจการ ทางพระพุทธศาสนา พระสงฆ์มีความขวนขวายหาความรู้ใหม่ ๆ โดยเข้าศึกษาหลักการบริหารจัดการในมหาวิทยาลัยของสงฆ์มากขึ้น
๒. ปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้การบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรม ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ ภาค ๑๕ เกิดประสิทธิภาพนั้น คือการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก โดยต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ มีปัจจัยสนับสนุน คือการวางแผนโครงการเพื่อเป็นแนวทางของการทำงาน การจัดองค์การ การบังคับบัญชาสั่งการ การอำนวยการ การควบคุมกำกับกิจกรรมต่าง ๆ ให้ดำเนินตามแผนที่วางไว้ การรายงานผลการปฏิบัติของหน่วยงาน การจัดทำงบประมาณบัญชีการใช้จ่ายเงินและตรวจสอบ ส่วนการบูรณาการหลักพุทธธรรมสำหรับการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมนั้น เน้นหลักอิทธิบาท ๔ ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา เพื่อให้การบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการจัดให้มีกิจกรรมที่สำคัญทั้งภายในและภายนอกสำนัก
๓. รูปแบบการบริหารจัดการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ในเขตการปกครอง คณะสงฆ์ ภาค ๑๕ ที่เป็นมาตรฐาน คือ ๑) เจ้าสำนักมีวิสัยทัศน์ มีการขวนขวายศึกษาดูงานของสำนักที่มีมาตรฐานนำมาปรับปรุงสำนักตนเอง เจ้าสำนักรู้จักกำหนดวัตถุประสงค์ รู้จักริเริ่มโครงงานที่เป็นแก่นสารประโยชน์ รู้จักวางแผนโครงการเพื่อปฏิบัติงาน จัดที่พัก อาคารปฏิบัติธรรม ให้มีความสะอาดพร้อมใช้งานได้ ๒) ด้านบุคลากร รู้จักแบ่งงานและการมอบหมายอำนาจหน้าที่การงาน รู้จักประสานความสามัคคีและประสานประโยชน์ร่วมกัน รู้จักปกครองบังคับบัญชา รู้จักติดตามและประเมินผลงาน พัฒนาบุคลิกภาพของตนเองและบุคลากรให้มีภาวะความเป็นผู้นำ จัดการศึกษาทั้งด้านปริยัติควบคู่กับการปฏิบัติ หมั่นประชุมกันเนื่องนิตย์ ๓) ด้านการบริหารจัดการภายในสำนัก จัดทำบัญชี รายรับ - จ่ายให้เป็นระบบ โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ บัญชีการเงินของสำนักปฏิบัติธรรมควรแยกจากบัญชีวัด จัดทำสถิติผู้เข้ารับการปฏิบัติธรรม มีการตั้งทุนเพื่อการเผยแผ่ของสำนักปฏิบัติธรรม ประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านทางสื่อ เช่น แผ่นป้าย แผ่นพับ วิทยุชุมชน ทางอินเทอร์เน็ต เช่น Line และ Facebook เป็นต้น จัดทำสื่อการปฏิบัติธรรม เช่น แผ่นซีดี ดีวีดี หนังสือสวดมนต์ และหนังสือคู่มือการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน
 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕