หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายสุนันท์ เพ็ชรพิรุณ
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการพัฒนาปัญญาตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : นายสุนันท์ เพ็ชรพิรุณ ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  นาย รังษี สุทนต์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องการพัฒนาปัญญาตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ ว่ามีการพัฒนาให้เกิดมีขึ้นได้อย่างไร มีบทบาทต่อสังคมไทยอย่างไร โดยแยกประเด็นการศึกษาวิจัยออกเป็น ๓ ประเด็น คือ
(๑) ปัญญาในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา และปกรณ์วิเสส
(๒) ปญญาตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ
(๓) การวิเคราะห์บทบาทเรื่องการพัฒนาปัญญาตามทรรศนะของพุทธทาส
ภิกขุที่มีต่อสังคมไทย
จากการศึกษาพบว่า
๑. ปัญญา หมายถึง ความรู้แจ้ง ความรู้ชัด ความเข้าใจ ความรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ปัญญาเป็นคำกลางๆ มีหลายขั้นหลายระดับ หลายประเภท เช่น ที่แบ่งเป็น
(ก) โลกิยปัญญา ปัญญาในขั้นเบื้องต้น ความฉลาดรอบรู้ในเรื่องการยังชีพ ในเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องอย่างชาวโลก
(ข) โลกุตตรปัญญา ปัญญาขั้นสูง ขั้นเหนือโลก ได้แก่ ขั้นที่เป็นมรรค ผล นิพพาน มีความฉลาดรอบรู้ในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้๒. ปัญญา ในทางพระพุทธศาสนา มีเป้าหมายอยู่ที่การทำลายดับอวิชชาและกิเลสอาสวะทั้งปวงที่เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ทั้งที่เป็นส่วนตัวบุคคล และแก่ชาวโลก ดังพุทธพจน์ที่ว่า ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ - บุคคล ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา หรือ ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต - ปัญญา เป็นแสงสว่างในโลก ฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา ในทางพระพุทธศาสนายกย่องว่า เป็นบัณฑิต คือเป็นพุทธะ แปลว่า ผู้รู้ รู้ความจริงอันประเสริฐว่า อะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นมรรคหรือวิธีปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ รู้แจ้งว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ประกอบด้วยตัวตน, ผู้ตื่น คือตื่นจากอวิชชา ความไม่รู้ อันเป็นรากเหง้าของกิเลสอาสวะทั้งปวง, ผู้เบิกบาน คือมีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง เพราะหมดสิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวง ไม่ยินดียินร้ายต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นโลกธรรมซึ่งจรเข้ามากระทบจิตใจ
๓. กระบวนการพัฒนาปัญญาตามทรรศนะของพุทธทาสภิกขุ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
การเข้าถึงจุดหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ความหลุดพ้น ต้องอาศัยปัญญาเป็นตัวการสำคัญ ได้แก่ วิปัสสนาปัญญา นับตั้งแต่พระอริยบุคคลขั้นต้น คือพระโสดาบัน ไปจนถึงพระอรหันต์ จะต้องได้ปัญญาวิมุตติ พุทธทาสภิกขุกล่าวว่า การพัฒนาปัญญาให้เกิดมีขน ให้แก่กล้าขึ้นจนถึงขั้นบรรลุอริยมรรค - อริยผล ปัญญาที่ทำลายกิเลสขั้นต้น ได้แก่ ขั้นละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทั้ง ๓ ได้ บรรลุเป็นพระโสดาบัน, ถ้าละกิเลสทั้ง ๓ ข้อเบื้องต้นดังที่กล่าวมาแล้วได้ และละราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง บรรลุเป็นพระสกิทาคามี, ถ้าละกามราคะ ปฏิฆะได้ บรรลุเป็นพระอนาคามี, และปัญญาขั้นสูงสุดสามารถละรูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ อวิชชา ผู้มีปัญญาแก่กล้าถึงที่สุด สามารถละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ได้ทั้งหมด บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นบุคคลที่ประเสริฐสุดในทางพระพุทธศาสนา
พุทธทาสภิกขุกล่าวว่า ธรรมะ เป็นเครื่องช่วยโลก ใช้ได้แก่ทุกศาสนา แก่ทุกระบอบของศีลธรรม จริยธรรม กฎหมาย การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจสังคม การศึกษา ประเพณีวัฒนธรรม การอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จิตวิทยา ปรัชญา เป็นต้น สามารถใช้ได้ทุกแขนงวิชาที่เป็นไปเพื่อความสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ ให้เกิดความสงบสุข ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยธรรมะ คือความถูกต้องดีงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทุกคนต้องปฏิบัติธรรมด้วยการขจัดความเห็นแก่ตัวมุ่งช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อท่านสอนให้ผู้คนในสังคมไทยดำเนินชีวิตด้วยธรรมะแล้ว เราท่านทั้งหลาย ควรหันมาสนับสนุนให้สังคมไทยมาปฏิบัติธรรมกันให้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่วัด ที่โรงเรียน และในทุกสถานที่ ที่มีอยู่ในสังคมไทยเรา จะทำให้สังคมไทยเราอยู่กันอย่างผาสุก โดยปราศจากอาชญาทั้งปวง
หลักและวิธีการที่พุทธทาสภิกขุกล่าวสอน สอดคล้องกับหลักการที่มีอยู่ในพระไตรปิฏก อรรถกถา และสามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ศึกษาปฏิบัติได้ตามสมควรแก่เหตุ
Download : 254806.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕