หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดสุรพงษ์ ฐิตญาโณ (แก้วกอ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๐ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักอปริหานิยธรรม : กรณีศึกษาเทศบาลตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดสุรพงษ์ ฐิตญาโณ (แก้วกอ) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสมุห์เฉวียน กตปุญฺโญ
  สุพิมล ศรศักดา
  เรืองเดช เขจรศาสตร์
วันสำเร็จการศึกษา : 2556
 
บทคัดย่อ

             การศึกษาวิจัยเรื่อง  “การศึกษาวิเคราะห์การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักอปริหานิยธรรม : กรณีศึกษาเทศบาลตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี”  โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการดังต่อไปนี้ ๑) เพื่อศึกษาหลักอปริหานิยธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาแนวความคิดการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การบริหารเทศบาลตำบลขามใหญ่ตามหลักอปริหานิยธรรมการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ(Qualitative Research)คือเน้นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และวิจัยภาคสนาม (Field Research)

ผลการวิจัยพบว่า

๑.หลักอปริหานิยธรรมเป็นหลักธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว มี ๒ ประเภท คือ ราชอปริหานิยธรรม (อปริหานิยธรรมสำหรับคฤหัสถ์ผู้มีหน้าที่ในการปกครอง) และภิกษุอปริหานิยธรรม (อปริหานิยธรรมสำหรับบรรพชิตผู้ใฝ่ธรรม) อปริหานิยธรรมปรากฏมีในพระสูตรต่างๆ เช่น มหาปริพพานสูตร เป็นต้น โดยแต่ละสูตรมีหลักธรรม ๔ ประการบ้าง ๖ ประการบ้าง และ ๗ ประการบ้าง

๒. ประเทศไทยได้มีวิวัฒนาการระบบการปกครองนับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน โดยวางรากฐานการบริหารแผ่นดินด้วยการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค ซึ่งเทศบาลตำบลขามใหญ่อยู่ในรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหลักการบริหารสำคัญ ได้แก่ การกระจายอำนาจหน้าที่, ความมีอิสระในการปกครอง, หลักการประชาธิปไตย

๓. เทศบาลตำบลขามใหญ่ได้ประยุกต์ใช้หลักอปริหานิยธรรม ดังนี้ ๑) มีการประชุมกันเนืองนิตย์ คือประชุมสามัญปีละ ๔ ครั้ง และเมื่อมีปัญหาเร่งด่วนสามารถประชุมวิสามัญได้ และมีการประชุมประจำเดือนของเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างของเทศบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งทุกการประชุมเพื่อแปลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ๒) พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำร่วมกัน โดยเฉพาะมีกำหนดระเบียบวาระประชุม ภายหลังประชุม มีการมอบหมายภารที่ต้องรับผิดชอบ โดยจัดตั้งคณะกรรมการติดตาม และประเมินผล ๓) เคารพปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ได้วางไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกฎหมายบ้านเมือง และยึดหลักปรัชญาดั่งเดิมมาเป็นแนวทางการบริหาร เช่น ฮีตสิบสองคองสิบสี่ ๔) เคารพนับถือผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ผู้มีคุณธรรมจริยธรรม และผู้สูงอายุ เคารพเชื่อถือความคิดเห็นของท่าน พร้อมทั้งช่วยเหลือเกื้อกูลท่านเหล่านั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ด้านสาธารณสุข และเบี้ยเลี้ยงชีพ เป็นต้น ๕) คุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี จากการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือการใช้ความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศ ๖) เจดีย์ หรือพุทธศาสนสถานเป็นเครื่องสัญลักษณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาได้รับการดูแล และบูรณปฏิสังขรณ์ ๗) สนับสนุน ส่งเสริมคนปฏิบัติดี ปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งให้ความอารักขา และคุ้มครอง

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕