หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เจ้าอธิการชัยชนะ สุขวฑฺฒโน ( ฤทธิ์บันเริง )
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๒ ครั้ง
การประยุกต์ธรรมเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทย
ชื่อผู้วิจัย : เจ้าอธิการชัยชนะ สุขวฑฺฒโน ( ฤทธิ์บันเริง ) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังวราภิรักษ์
  สุรพงษ์ คงสัตย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

                    การวิจัยนี้  มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักการและวิธีการเผยแผ่ธรรมของพระพุทธเจ้าที่ปรากฎในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาหลักการและวิธีการเผยแผ่ธรรมของพระสาวกที่ปรากฎในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์หลักการและวิธีการเผยแผ่ธรรมในการสอนของพระสงฆ์ไทย ผลการศึกษาผู้วิจัยพบว่า

            การเผยแผ่ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงคำนึงถึงเพราะจะนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ โดยต้องมีเนื้อหา หรือเรื่องที่จะสอน มีตัวผู้เรียนหรือผู้ฟัง และวิธีการสอนครบถ้วนทุกอย่าง ได้แยกเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการเผยแผ่โดยพระองค์ทรงแสดงเองและส่งพระสาวกไปเผยแผ่ทั่วทุกทิศ พระพุทธองค์ทรงถือว่าการประกาศพระพุทธศาสนาเป็นงานหลัก เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองได้ เป็นงานแรกที่พระพุทธองค์ทรงดำริและทรงกระทำแม้กระทั่งลมหายใจสุดท้าย  โดยทรงสั่งสอนพระสาวกจนบรรลุคุณพิเศษ ส่วนมากเป็นพระอรหันต์ทรง        ตรัสสอนให้มีคุณสมบัติ มีวิธีการ และหลักการที่เหมาะสมทุกด้าน เพื่อให้การเผยแผ่แก่ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ หลากหลายประการอันเหมาะสมแก่ผู้ฟัง ตามภูมิหลัง ปัญญาความรู้ วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี เมื่อจบการสนทนาจึงมักจะได้รับผลตามความมุ่งหมาย คือ ผู้ฟังได้บรรลุมรรคผลนิพพานบ้าง ได้ดวงตาเห็นธรรมบ้าง เข้าถึงพระรัตนตรัยบ้าง หรือแสดงตนเป็น            พุทธมามกะบ้าง แล้วแต่อินทรีย์บารมีของแต่ละบุคคล  หลักพื้นฐานการสอนธรรมของพระสาวกตามแนวพุทธจริยาพระพุทธเจ้าที่ทรงเน้นข้อวัตรให้เป็นแบบอย่างในการสอนโดยยึดหลักการเผยแผ่ธรรมที่พุทธองค์ทรงใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้แพร่หลายไปทั่วทุกสารทิศทั้งจำนวน    ผู้เผยแผ่และจำนวนของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็มีจำนวนมากยิ่งขึ้นต้องยอมรับว่าองค์กรที่สำคัญคือองค์กรผู้เผยแผ่ นั้นคือ พระสาวกทำให้กองทัพธรรมซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นพระธรรมราชา มีพระสารีบุตรเป็นธรรมเสนาบดีมีพระมหาโมคัลลานะเป็นธรรมเสนาซ้ายมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การวิจัยในครั้งนี้จะเลือกนำเสนอพระสาวกในสมัยพุทธกาลที่ท่านได้ทำงานในเรื่องของการเผยแผ่ที่มีบทบาทสำคัญๆเฉพาะบางรูปเท่านั้นมาเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นหลักการการเผยแผ่ธรรมและให้มองเห็นภาพรวมในบทบาทและรูปแบบวิธีการของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสาวกในสมัยพุทธกาล

            พระสงฆ์ในประเทศไทยในปัจจุบัน ดังเช่น หลวงพ่อพุทธทาสได้เน้นการเผยแผ่หลักพุทธธรรมที่ลึกซึ้ง  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เน้นการเผยแผ่พุทธธรรมด้วยการเป็นที่ยอมรับจากพุทธบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ  พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เน้นการเผยแผ่หลักพุทธธรรมที่เป็นวิชาการ   พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กลฺยาโณ) เน้นการเผยแผ่หลักพุทธธรรมที่เข้าใจง่าย เป็นหลักธรรมที่เป็นพื้นฐานของศีลธรรม จริยธรรมในสังคม   เป็นต้นการเผยแผ่พุทธธรรมและการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ ให้กับพุทธศาสนิกชน นักเรียน นักศึกษา และลูกหลานไทยในยุคนี้ พระสงฆ์ซึ่งถือว่าเป็นบริบทหนึ่งของสังคมมีบทบาทสำคัญต่อพระพุทธศาสนา ย่อมต้องศึกษาให้เข้าใจในการเผยแผ่พุทธธรรม คือ การนำธรรมะไปสู่ประชาชนเพื่อให้เขาเหล่านั้นปฏิบัติเป็นสัมมาปฏิบัติ อันก่อให้เกิดความสงบสุขแก่ตนเองและแก่สังคมโดยทั่วไป พระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้จำต้องเพิ่มความใส่ใจในการแสวงหาความรู้เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวไปเร็วมาก ก่อให้เกิดปฏิวัติทางการสื่อสารโดยเฉพาะทุกวันนี้ การสื่อสารมีหลายรูปแบบทั้งสื่อบุคคล สื่อมวลชน สื่อเฉพาะกิจ พระสงฆ์ในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้สื่อเป็นช่องทางในการเผยแผ่พุทธธรรมให้มากขึ้น รูปแบบและแนวทางการเผยแผ่ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับของประชาชน เพราะงานเผยแผ่พุทธธรรมเป็นงานหลักเป็นหัวใจที่ทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง เป็นงานแรกที่พระบรมศาสดาดำริและทรงทำแม้ลมหายใจสุดท้ายแม้ภายหลังเสด็จดับขันธปรินิพพานไป เหล่าสาวกทั้งหลายก็ได้ดำเนินการแสดงพระธรรมเทศนา สั่งสอนตามรูปแบบและแนวทางการเผยแผ่ของพระองค์เป็นลำดับสืบมา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕