หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระนฤนาท ญาณวิริโย (สดคมขำ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๙ ครั้ง
การนำนโยบายไปปฏิบัติด้านการส่งเสริมฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ของเทศบาลตำบลสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระนฤนาท ญาณวิริโย (สดคมขำ) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.ธัชชนันท์ อิศรเดช
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ, รศ.
  ดร.ยุทธนา ปราณีต
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายการท่องเที่ยว การส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยว และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว๒) เพื่อศึกษาการนำนโยบายไปปฏิบัติด้านการส่งเสริมฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของเทศบาลตำบลสามชุก ๓) เพื่อศึกษาสมรรถนะภายในองค์การในการนำนโยบายด้านการส่งเสริมฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไปปฏิบัติในเทศบาลตำบลสามชุก การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depthInterview) กับผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ(KeyInformant) จำนวน ๑๑ ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง(StructuredInterviewForm)จำนวน๑ชุด สำหรับสัมภาษณ์นายกเทศมนตรีและเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสามชุกวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (ContentanalysisTechnique) ตามโครงสร้างของแบบสัมภาษณ์ประกอบการสังเกตของผู้วิจัย

ผลการวิจัยพบว่า
๑. การแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวซึ่งบางพื้นที่ได้ประสบปัญหาจนเข้าขั้นวิกฤติ และการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม สามารถอาศัยมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อไม่ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ต้องอาศัยท้องถิ่นเข้ามาร่วมมีบทบาทในการส่งเสริมฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวในฐานะเจ้าของทรัพยากรทางการท่องเที่ยว
๒. การนำนโยบายไปปฏิบัติด้านการส่งเสริมฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของเทศบาลตำบลสามชุก ในการทำแผนเพื่อพัฒนาได้จัดให้มีการประชุมร่วมสามฝ่าย ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และประชาชนในชุมชนเพื่อเสนอโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน หลังจากนั้นจัดลำดับความสำคัญของโครงการแล้วจึงจัดทำเป็นแผนพัฒนาสามปีเพื่อนำนโยบายไปปฏิบัติ ในการนำนโยบายการท่องเที่ยวไปปฏิบัติทางเทศบาลได้จัดคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาประสานงานกับคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์เพื่อทำงานด้านการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวร่วมกัน โดยมีหลักการพัฒนาเพื่อที่จะอนุรักษ์ความดั้งเดิมของแหล่งท่องเที่ยวรวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนเอาไว้ และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนนั้นด้วย 
๓. เพื่อให้การนำนโยบายไปปฏิบัติด้านการส่งเสริมฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของเทศบาลตำบลสามชุกประสบความสำเร็จสมรรถนะภายในองค์การมีความสำคัญเพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างราบรื่นดังนั้นองค์การจะต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่ ๑) ด้านโครงสร้างองค์การ จะต้องมีความชัดเจนไม่ซับซ้อนเพื่อความสะดวกในการสั่งการตามลำดับขั้น ๒) ด้านบุคลากร เพื่อให้การพัฒนามีประสิทธิภาพควรจัดอบรมบุคลากรเป็นประจำให้มีความพร้อมในการปฏิบัติตามหน้าที่ ๓) ด้านงบประมาณ ถ้าอาศัยเฉพาะที่มาจากเทศบาลเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนที่มีหลายแห่ง ดังนั้นภาคเอกชน และภาคประชาชนในท้องถิ่นควรเข้ามาสนับสนุนด้านงบประมาณด้วย ๔) ด้านสถานที่ ควรเลือกจากแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนที่มีความพร้อมในการพัฒนาและจัดทำเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนเข้าด้วยกัน  ๕) ด้านวัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจและบอกต่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้น และกลับมายังแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนอีกครั้งหนึ่งดังนั้นการส่งเสริมฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนไม่ให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชนและสมรรถนะภายในองค์การ ได้แก่ โครงสร้างองค์การ บุคลากร งบประมาณ สถานที่ วัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกมีส่วนสำคัญในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถมีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕