หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมุห์อภิเศก สีลเตโช (โฉมตรึก)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๑ ครั้ง
การศึกษาภาวะผู้นำของพระธรรมสิทธินายก (เฉลิม พนฺธุรํสี) (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พระสมุห์อภิเศก สีลเตโช (โฉมตรึก) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตติปญฺโญ,ดร.
  ผศ.ชวัชชัย ไชยสา
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาหลักภาวะผู้นำโดยทั่วไป และหลักภาวะผู้นำในทางพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำของพระธรรมสิทธินายก (เฉลิม พนฺธุรํสี) และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการนำภาวะผู้นำของพระธรรมสิทธินายก (เฉลิม พนฺธุรํสี) มาปรับใช้ในกิจการคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) จำนวน ๑๐ รูป/คน

จากการวิจัยพบว่า ภาวะผู้นำตามแนวคิดและทฤษฎีทั่วไป จะต้องเป็นผู้นำเชิงปฏิรูปเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ตามสามารถใช้วิสัยทัศน์ให้เกิดความชัดเจนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ตามเหล่านั้นสามารถทำงานให้บรรลุผลดียิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นมากกว่าตนเอง วางตนได้เหมาะสมจนเป็นที่ไว้วางใจแก่ผู้อื่น ช่วยเสริมสร้างจุดแข็งและลดจุดอ่อนของผู้ตาม และเป็นผู้ที่สามารถสร้างความเข้าใจได้ในแต่ละประเด็น ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การ แนวคิดนี้จึงย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้นำจะต้องมีความเข้าใจ และสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการและแรงจูงใจของผู้ตาม ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ภาวะผู้นำเชิงปฏิรูปจึงมีอิทธิพลต่อความสำเร็จขององค์การในยุคโลกาภิวัตน์นี้ ส่วนภาวะผู้นำตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พบว่า ภาวะผู้นำเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำและผู้บริหารทุกระดับ และการที่จะทำให้ตนเองเป็นผู้นำที่มีความสามารถก็จะต้องสร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง อีกทั้งนิยามหรือความหมายของผู้นำและภาวะผู้นำมีอีกมากมายและแตกต่างกันไปตามทัศนะของนักวิชาการแต่ละท่าน ซึ่งลักษณะของผู้นำในพระพุทธศาสนานั้น มีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ ลักษณะของธรรมราชาและลักษณะของเทวราชา และภาวะผู้นำ
ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ผู้นำควรมี และควรนำไปประยุกต์ใช้สำหรับภาวะผู้นำส่วนตัวของพระเดชพระคุณ พระธรรมสิทธินายก (เฉลิม พนฺธุรํสี) เป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างของพระสงฆ์อุชุปฏิบัติ มีจริยาวัตรที่งดงาม เป็นครูผู้สอนที่ดีที่ปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่างเป็นพระเถระที่ปกครองคณะสงฆ์กรุงเทพมหานครด้วยหลักของเมตตาและความยุติธรรม นอกจากนี้ พระเดชพระคุณยังยึดหลักในวิธีการสอนหรือการแนะนำ ตามหลักผู้นำของพระพุทธเจ้า ๔ ประการ สำหรับภาวะผู้นำของพระธรรมสิทธินายก (เฉลิม พนฺธุรํสี) เจ้าคณะกรุงเทพมหานครในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้าน ประกอบด้วย ด้านการปกครอง พระเดชพระคุณ เป็นผู้นำในการจัดประชุม สัมมนา พระสังฆาธิการ การตรวจการคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นมติมหาเถรสมาคม และทำการตรวจตราวัดวาอารามอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการเพื่อยกระดับความรู้ (๒) ความสามารถของพระสังฆาธิการ ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยจัดการประชุมพระวินยาธิการ โครงการอบรมสอบความรู้พระกรรมวาจาจารย์ ด้านการศาสนศึกษา พระเดชพระคุณ เป็นผู้นำในการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลี สำหรับในการปกครองคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร พระเดชพระคุณสนับสนุนการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรม และแผนกบาลีทั่วทุกวัดในเขตกรุงเทพมหานคร ด้านการศึกษาสงเคราะห์ พระเดชพระคุณ ได้ตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษา และทำการเพิ่มทุนการศึกษาอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเป็นประธานในการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนอีกด้วย ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระเดชพระคุณ ตระหนักดีในหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่เสมอ โดยจัดทำหนังสือเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่างๆ มากมาย ยังได้เป็นผู้แสดงธรรมและบรรยายธรรมทางสถานีโทรทัศน์ TBC อยู่เสมอ และยังสนับสนุนการอบรมพระสังฆาธิการ ในระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และพระอุปัชฌาย์ ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ด้านสาธารณูปการ พระเดชพระคุณ ได้เป็นผู้นำบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่างๆ ทั้งในเขตสังฆาวาส และเขตพุทธาวาสที่ชำรุดทรุดโทรมให้กลับมามีความโดดเด่น อีกทั้งยังตั้งคณะกรรมการควบคุมดูแลการก่อสร้าง และสาธารณูปการ เพื่อให้งานด้านสาธารณูปการนั้นเป็นไปตามการวางแผนที่ไดตั้งไว้ นอกจากนี้ พระเดชพระคุณ ยังได้ให้คำปรึกษากับพระสังฆาธิการต่าง ๆ ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์กรุงเทพมหานครอีกด้วย ด้านสาธารณสงเคราะห์ พระเดชพระคุณ เป็นผู้นำในการดำเนินกิจการเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล นอกจากนี้ยังช่วยเหลือเกื้อกูลสถานที่อันเป็นสาธารณสมบัติ มุ่งเอาเฉพาะการช่วยเหลือสถานที่อันเป็นของสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ยังเป็นผู้นำในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ในจังหวัดภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ทั้งภิกษุสามเณร และประชาชนทั่วไป และยังเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และสถานที่ต่าง ๆ ตลอดถึงการตรวจเยี่ยมการจัดงานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
สำหรับการประยุกต์ใช้ภาวะผู้นำของพระธรรมสิทธินายก (เฉลิม พนฺธุรํสี) ในกิจการคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน จะทำให้เห็นว่า พระเดชพระคุณ เป็นผู้นำในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้านนั้นเท่าเทียมกัน โดยยึดหลักคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกต่าง ๆ และครูบาอาจารย์ที่ได้ทำการสั่งสอนเรื่อยมา เพื่อให้อยู่ในกฎ ระเบียบ การปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จนทำให้เห็นว่า การบริหารกิจการคณะสงฆ์กรุงเทพมหานครนั้น ผู้นำองค์กรคณะสงฆ์ไทยในระดับต่าง ๆ สามารถนำภาวะผู้นำ คือ มีการนำหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ สัปปุริสธรรม ๗ พรหมวิหารธรรม ๔ และสังคหวัตถุธรรม ๔ ไปประยุกต์ใช้กับตนเองในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้าน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรคณะสงฆ์ ให้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมทั้งหลายของคณะสงฆ์ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ หากผู้นำองค์กรคณะสงฆ์ขาดภาวะผู้นำในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ก็ย่อมไม่สามารถดำเนินกิจการคณะสงฆ์ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่คณะสงฆ์เป็นอย่างมาก แต่ถ้าหากว่าผู้นำองค์กรคณะสงฆ์มีภาวะผู้นำที่ดี ย่อมสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกิจการคณะสงฆ์ไทย  

ดาวน์โหลด

 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕