หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสังฆรักษ์ประนอม จตฺตมโล (กลักย้อม)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๕ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบความโกรธและวิธีระงับความโกรธในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับคริสตศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสังฆรักษ์ประนอม จตฺตมโล (กลักย้อม) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร
  ดร. ณัทธีร์ ศรีดี
  ดร. สฤษฎ์ แพงทรัพย์
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความโกรธและวิธีระงับความโกรธในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาความโกรธและวิธีระงับความโกรธในคริสตศาสนา และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความโกรธและวิธีระงับความโกรธในพระพุทธศาสนาเถรวาทและคริสต์ศาสนา โดยเป็นการศึกษาในเชิงเอกสาร  แล้วนำมาวิเคราะห์  สังเคราะห์ เปรียบเทียบในเชิงพรรณนา ดังนี้
๑. ประเด็นเรื่องความโกรธและวิธีระงับความโกรธในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ความโกรธ หรือกิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความอาฆาต ความพยาบาท คิดประทุษร้าย ย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่นด้วย อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายใน คือ (๑) อวิชชา (๒) อกุศลมูล (๓) อโยนิโสมนสิการ และจากปัจจัยภายนอก คือ อาฆาตวัตถุ ซึ่งมีวิธีระงับอยู่ ๕ ประการ คือ (๑) สมาธิ (๒) ปัญญา (๓) สัจจะ ขันติ ทมะ จาคะ (๔) มนสิการ (๔) พิจารณา (๕) มีสติรู้ตัว
จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่สามารถระงับความโกรธได้  ย่อมมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ผู้เจริญเมตตา ย่อมมีจิตมั่นในความเมตตา ส่งผลให้ได้รับอานิสงส์ คือ หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย จิตตั้งมั่นได้เร็ว สีหน้าสดใส  และสามารถพัฒนาจิตสูงขึ้นไปด้วยการเจริญสมาธิ การทำจิตให้ตั้งมั่นในระดับฌานต่างๆ มีปฐมฌาน เป็นต้น แล้วดำเนินไปถึงขั้นวิปัสสนา คือพิจารณาธรรมด้วยปัญญาเห็นความจริงของสังขารคือ ขันธ์ ๕ เป็นต้น มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนอะไรทั้งสิ้นเห็นชัดด้วยปัญญาจึงละโลภะ โทสะ โมหะ จนไปถึง (สมุจเฉทปหาน) เป็นการละกิเลสที่เด็ดขาด 
        ๒. ประเด็นเรื่องความโกรธและวิธีระงับความโกรธในคริสต์ศาสนา
คริสต์ศาสนามองว่า  ความโกรธเป็นสภาวะที่เกิดอารมณ์แบบไม่สมปรารถนา ซึ่งเกิดจากความรู้สึกที่ถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรม ถูกหยามหรือได้รับการข่มขู่ เป็นต้น จะพัฒนาผ่านทัศนคติท่าทีอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของมนุษย์ มีระดับตั้งแต่ ๑) การเมินเฉยไม่สนใจใยดี ๒) การสบประมาทดูหมิ่น ๓) การฉุนเฉียวโกรธง่าย ๔) ความหงุดหงิดผิดหวังคับข้องใจ ๕) ความอิจฉาริษยา ๖) การไม่พอใจขุ่นเคืองแค้นใจ และ ๗) การแก้แค้น 
จากการศึกษาพบว่า เป้าประสงค์ของการระงับความโกรธคือ การลดอารมณ์โกรธ และการตอบสนองต่อความโกรธทั้งทางร่างกายและจิตใจ จัดการกับความโกรธในแบบที่ถูกต้องและในวิธีของพระเจ้า คือ (๑) จงนิ่ง (๒) จงเงียบ (๓) จงใช้ปัญญา (๔) จงแยกแยะ (๕) เอาชนะความโกรธวันต่อวัน (๖) ความรัก
๓. การเปรียบเทียบความโกรธและวิธีระงับความโกรธในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับคริสตศาสนา
ทั้งพระพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา มองว่า ความโกรธนั้น มุ่งถึงกิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความอาฆาต ความพยาบาท คิดประทุษร้ายความโกรธย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเอง และผู้อื่นด้วย ลักษณะของความโกรธ คือความโกรธร้ายแรงกว่าอัคคีภัย ความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินอันเนื่องมาจากไฟภายในคือโทสะ คนโกรธสามารถฆ่าบิดามารดาก็ได้ ฆ่าพระอรหันต์ก็ได้ ฆ่าตนเองก็ได้ ฆ่าใครต่อใครก็ได้
วิธีระงับความโกรธในพระพุทธศาสนามี ๒ แบบ คือ แบบโลกิยะระงับด้วยสมาธิ และแบบโลกุตระระงับด้วยวิปัสสนา ส่วนการระงับความโกรธในคริสต์ศาสนา คือการปฏิบัติตามวิธีการของพระเจ้า ได้แก่ (๑) จงนิ่ง (๒) จงเงียบ (๓) จงใช้ปัญญา (๔) จงแยกแยะ (๕) เอาชนะความโกรธวันต่อวัน (๖) ความรัก

ดาวน์โหลด

 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕