หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พันเอก ณรงค์ ครองแถว
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๕ ครั้ง
กำเนิดและพัฒนาการของมนุษย์ในพระสุตตันตปิฎก
ชื่อผู้วิจัย : พันเอก ณรงค์ ครองแถว ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ดร. อธิเทพ ผาทา ป.ธ.๔, พธ.บ., พธ.ม. (ปรัชญา), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
  .
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

                     งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษามนุษย์ในพระสุตตันตปิฎก  ๒) เพื่อศึกษากำเนิดของมนุษย์ในพระสุตตันตปิฎก  ๓) เพื่อศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ในพระสุตตันตปิฎก

                     จากการศึกษาพบว่า มนุษย์ในพระสุตตันตปิฎก  มนุษย์ แปลว่าผู้มีจิตใจสูง หมายถึงจิตดวงแรกที่ปรากฏขึ้นในครรภ์ของมารดา หลังจากนั้นเจริญเติบโตคลอดออกมาเป็นทารก เติบโตเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ และแก่ชรา ตายจากไป  มนุษย์ แบ่งตามเพศมี ๒ ลักษณะคือ  ๑) อิตถีภาวรูป รูปที่แสดงว่าเป็นหญิง  ๒) ปุริสภาวรูป  รูปที่แสดงว่าเป็นชาย

                     พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์จะต้องมีคุณธรรมด้วย จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตใจสูง และเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์  พระพุทธศาสนาได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ความสำคัญของชีวิตว่า กว่าจะได้อัตภาพเป็นมนุษย์นี้ยากแสนยาก  จิตของมนุษย์นั้นถือว่า เป็นธรรมชาติพิเศษ สามารถสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นได้ เมื่อจิตได้รับการฝึก อบรม เจริญ คุ้มครอง รักษา สำรวมอย่างดี จะให้ประโยชน์มาก ให้ผลมหาศาล ดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้

                     จากการศึกษากำเนิดของมนุษย์ในพระสุตตันตปิฎก พบว่า กำเนิดของมนุษย์ เป็นกำเนิดจากครรภ์มารดา มีองค์ประกอบ ๓ ประการคือ ๑) บิดามารดาอยู่ร่วมกัน มีเพศสัมพันธ์กัน  ๒) มารดาอยู่ในวัยมีระดู  ๓) มีคันธัพพะมาปรากฏในครรภ์มารดา  ชีวิตของมนุษย์มีองค์ประกอบ ๒ ประการคือ  ร่างกายกับจิตใจ  ทั้งร่างกายและจิตใจอาศัยซึ่งกันและกัน  ทำหน้าที่เพื่อดำเนินชีวิตต่อไป หรือเรียกอย่างหนึ่งว่า รูปกับนาม ได้แก่ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รูปคงเป็นรูป  เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนาม  และการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นไปภายใต้กฎแห่งกรรม กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต

                     การศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ในพระสุตตันตปิฎกพบว่า รูปนี้เป็นกลละก่อน  จากกลละเกิดเป็นอัพพุทะ  จากอัพพุทะ เกิดเป็นเปสิ  จากเปสิเกิดเป็นฆนะ  จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม  ต่อจากนั้น ผม ขน และเล็บจึงเกิดขึ้น  มารดาของสัตว์ในครรภ์บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์ ก็เลี้ยงอัตภาพอยู่ด้วยโภชนาหารอย่างนั้น

                     ในครรภ์มารดานั้น มีวิวัฒนาการจากสัปดาห์ที่ ๑ เป็นกลละ น้ำเมือกใส มีลักษณะเป็นเมือกคล้ายเนยใส ขนาดเท่าหยาดน้ำมันงา เป็นการเริ่มต้นของกำเนิดชีวิตมนุษย์  มีโครงสร้างกายชีวภาพอยู่สามด้านคือ โครงสร้างร่างกาย โครงสร้างสมอง และโครงสร้างเพศ จนถึงสัปดาห์ ที่ ๔๒ เพราะอาศัยกรรมชวาต ลมเกิดจากกรรม ร่างกายของเด็กเปลี่ยนท่าหันเท้าขึ้น ศีรษะลงคว่ำและเคลื่อนไปสู่ช่องกำเนิด ทารกก็คลอดออกมาจากครรภ์มารดา

          ส่วนด้านจิตใจ ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าทางด้านร่างกาย ต้องได้รับการฝึกอบรม เพื่อให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยศีลธรรมและคุณธรรม มีเมตตาความรัก ความปรารถนาดี  กรุณาความสงสาร  มุทิตาความเบิกบานพลอยยินดี  และอุเบกขาความวางเฉย จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีกายพัฒนาแล้ว มีจิตพัฒนาแล้ว มีพัฒนาการด้านคุณธรรม ด้วยการปฏิบัติจริง ลงมือทำให้รู้เห็นประจักษ์ ให้บังเกิดผลประจักษ์แก่ชีวิตและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมตลอดไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕