หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางเอื้อมอร ชลวร
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๗ ครั้ง
ศึกษาพัฒนาการของรูปแบบวิธีการสอนของพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ชื่อผู้วิจัย : นางเอื้อมอร ชลวร ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ดร. ศศิวรรณ กำลังสินเสริม, คศ.บ., พธ.ม. (พระพุทธศาสนา), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
  .
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ ได้แก่ เพื่อศึกษาเรื่องปุจฉา-วิสัชนาในพระพุทธศาสนาและเพื่อศึกษาพัฒนาการของรูปแบบวิธีการสอนของพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช

จากการศึกษาผู้วิจัยพบว่า ปุจฉา-วิสัชนาเป็นวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าที่ใช้สอนพระสงฆ์และบุคคลทั่วไปมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นวิธีการสอนที่ทรงใช้มากที่สุด มีประโยชน์ที่สุด เพราะทำให้ผู้ฟังได้ความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนและยังเป็นวิธีการที่เป็นต้นแบบให้มีการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้าได้กับทุกบริบทและสังคม

ส่วนรูปแบบวิธีการสอนแบบการถามตอบของพระปราโมทย์มี ๒ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก คือการเทศน์ช่วงเช้าในระหว่างเวลา ๐๗.๓๐น. ถึง ๐๘.๐๐ น. ขั้นตอนต่อไป คือ การที่ผู้เรียนส่งการบ้านในช่วงสาย ระหว่างเวลา ๐๘.๔๕ น. ถึง ๑๐.๐๐ น.

ขั้นตอนที่ ๑ การเทศน์ในช่วงเช้าพระปราโมทย์มีคำสอนที่เกี่ยวกับหลักการภาวนาและแนวทางในการปฏิบัติ โดยหลักของการภาวนานั้นจะมีคำที่เป็นกุญแจสำคัญ คือ “การมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ซึ่งการปฏิบัติขั้นแรก คือ สอนให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้น เมื่อรู้สึกตัวเป็นแล้วให้ย้อนมาดูจิต การดูจิตเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาให้จิตเดินไปสู่การเจริญปัญญาได้ หลักในการดูจิตนั้นมี ๓ ขั้นตอน คือ (๑) ต้องดูให้ถึงจิต หมายถึง ต้องรู้ให้ถึงตัวสภาวะของจิตใจจริงๆ ที่เป็นปัจจุบันอารมณ์ (๒) ต้องดูให้เป็น หมายถึง การดูจิตที่ถูกต้องต้องรู้ให้ถูกต้อง ๓ กาล ได้แก่ (๒.๑) อย่าไปดักรู้ หมายความว่า การทำวิปัสสนาจะไม่ไปดักดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้ (๒.๒) ระหว่างดูจิต หมายถึง อย่าถลำลงไปจ้อง ให้ดูด้วยจิตที่สบายๆ (๒.๓) เมื่อรู้แล้ว หมายถึง เมื่อเห็นสภาวะใดๆ เกิดขึ้น อย่าแทรกแซง และ (๓) ต้องดูบ่อยๆ หมายถึง การดูจิตนั้นจะต้องดูบ่อยๆ หรือตามรู้เนืองๆ

เมื่อดูจิตเป็นแล้วบทเรียนที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้มี ๓ บทเรียนด้วยกันคือ (๑) เรียนเรื่องศีลสิกขาเพื่อให้เป็นผู้มีศีลที่เป็นปกติ (๒) เรียนเรื่องจิตตสิกขา เพื่อให้รู้ความจริงว่า จิตชนิดไหนเป็นกุศล จิตชนิดไหนเป็นอกุศล ปัญญาที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศล หมายถึงการมีสติที่เป็นสติอัตโนมัติ คือสติที่เกิดขึ้นได้เองอย่างต่อเนื่องจึงจะทำให้จิตตั้งมั่น (สัมมาสมาธิ) (๓) เรียนเรื่องปัญญาสิกขาเมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว จะทำให้เห็นไตรลักษณ์  การเห็นความจริงมีเป้าหมาย คือบรรลุธรรมตามลำดับ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

จากบทเรียนในการเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น เมื่อผู้เรียนนำไปฝึกปฏิบัติแล้ว จะนำเนื้อหาหรือการปฏิบัติและข้อสงสัยต่างๆ ของตนเองมาถาม  ซึ่งเรียกว่า การส่งการบ้าน เป็นขั้นตอนที่สองของรูปแบบวิธีการสอนของพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช  โดยคำว่า “ส่งการบ้าน” เป็นศัพท์ที่ใช้กันในหมู่คนภาวนาที่สวนสันติธรรม เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนหรือผู้ภาวนานั้นมีพัฒนาการในการปฏิบัติเป็นเช่นไร จากการศึกษาพบว่า แนวทางวิธีการสอนที่เป็นการถามตอบได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะเป็นการภาวนาที่ผู้เรียนเห็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นจริงได้ด้วยตนเอง เนื่องจากสภาวะธรรมหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเรียนรู้รูปนามหรือกายใจของตนเอง ผู้เรียนได้นำไปทดลองปฏิบัติและเห็นพัฒนาการในทางดีขึ้น

 กล่าวโดยสรุป รูปแบบวิธีการสอนแบบถามตอบนี้มีพัฒนาการมาจากพุทธวิธีการสอนที่ยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทาง มิได้มีวิธีการที่ต่างจากแนวทางที่พระพุทธองค์สอนไว้ และความพยายามของพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช คือ การตอบแทนบุญคุณของพระพุทธเจ้าและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อนำพาผู้คนให้พ้นทุกข์ได้พบความสุขในปัจจุบัน ความสุขในอนาคตและความสุขในการบรรลุธรรมในที่สุด

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕