หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางเอื้อมอร ชลวร
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๗ ครั้ง
การพัฒนาปัญญาในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : นางเอื้อมอร ชลวร ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ดร.นันทพล โรจนโกศล, วศ.บ., พธ.ม., พธ.ด.
  .
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๓
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญญาในพระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการพัฒนาปัญญาในพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลการวิจัยพบว่า  ปัญญามีความหมายตามศัพท์และไวยากรณ์ คือ ธรรมชาติรู้ชัดหรือธรรมชาติเป็นเหตุรู้ชัด นอกจากนั้นมีความหมายตามเนื้อหาสาระ คือ ความรู้ทั่ว ความรู้เข้าใจชัดเจน กิริยาที่รู้ชัด และปรีชาหยั่งรู้ชัด ความรู้หรือปรีชาดังกล่าวสามารถจำแนกเห็นถึงเหตุผลว่า สิ่งใดดี  สิ่งนั้นมีคุณหรือโทษ ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ ปัญญาเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นต่อในการจัดการการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในหลายด้าน หากขาดปัญญาจะทำให้พบกับปัญหาและความทุกข์มากมาย ปัญญาจำแนกได้เป็น๒ ประเภท   ๓ ประเภท  ๔ ประเภท และ ๖ ประเภท เป็นต้น นอกจากนั้นปัญญายังปรากฏในหมวดธรรมต่างๆ ได้แก่ ไตรสิกขา อริยมรรค อินทรีย์ ๕ พละ ๕ อิทธิบาท ๔ และโพชฌงค์ ๗

ส่วนการพัฒนาปัญญาเป็นการทำให้ความรู้ ความเข้าใจชัดเจนเจริญขึ้นเพื่อนำมาจัดการกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตเพื่อเป้าหมายที่วางไว้  แต่การพัฒนาปัญญาจะสำเร็จไม่ได้หากพบกับอุปสรรค คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ที่เป็นเครื่องสกัดกั้นความเจริญ แนวทางการพัฒนาปัญญาในงานวิจัยฉบับนี้มุ่งสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาปัญญาตามหลักไตรสิกขาเข้ากับแนวทางการพัฒนาปัญญาตามหลักวุฑฒิธรรม ๔ การพัฒนาปัญญาทั้งสองแนวทางมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันเพราะแนวทางพัฒนาปัญญาตามหลักไตรสิกขาจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานเพื่อให้มีสมาธิที่ตั้งมั่นและมีประสิทธิภาพทั้งผู้ปฎิบัติและผู้ทรงปัญญาที่เรียกว่า กัลยาณมิตรด้วย เมื่อศีลและสมาธิถึงพร้อมการฟังความรู้จากผู้ทรงปัญญาจะเพิ่มประสิทธิภาพ ต่อจากนั้นจึงจะเป็นบาทฐานของแนวการพัฒนาปัญญาขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งหากพิจารณาตามหลักไตรสิกขาคือการพัฒนาปัญญาโดยตรง แต่หากพิจารณาตามหลักวุฑฒิธรรม ๔ คือ แนวทางการพิจารณาไตร่ตรองอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ทั้ง ๑๐ แนวทาง โดยที่หนึ่งในนั้นได้แสดงบทบาทเด่นออกมาในข้อสุดท้ายของหลักวุฑฒิธรรม คือ แนวทางการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่เรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ การปฎิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้บรรลุเป้าหมายระดับใดระดับหนึ่ง ได้แก่ (๑) เป้าหมายเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน (ทิฎฐธัมมิกัตถะ)  (๒) เป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขในอนาคต (สัมปรายิกัตถะ) และ(๓) เป้าหมายเพื่อการบรรลุธรรม (ปรมัตถะ)

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕