หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวอรทัย มีแสง
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๓ ครั้ง
อิทธิพลของสังขารที่มีต่อพฤติกรรมมนุษย์
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวอรทัย มีแสง ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ดร. ประพันธ์ ศุภษร, ป.ธ. ๗, พธ. บ., ศศ.ม. (พุทธศาสนศึกษา),พธ.ด.(พระพุทธศาสนา)
  .
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๓
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคำสอนเรื่องสังขารในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาแนวคำสอนเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และ (๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลของสังขารที่มีต่อพฤติกรรมมนุษย์

               ผลการวิจัยพบว่า สังขารเป็นหลักธรรมที่สำคัญในพระพุทธศาสนา  มีความหมายอยู่ ๒ นัย นัยแรก คือ สังขาร หมายถึง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง หรือ สภาวะที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง หรือ ผู้ถูกกระทำ ซึ่งตรงกับความหมายว่าสังขตธรรม นัยที่สองคือ สังขาร หมายถึง สิ่งที่ปรุงแต่ง หรือ สภาวะที่ปรุงแต่งสิ่งอื่น หรือ เป็นผู้กระทำ ซึ่งหมายถึง สิ่งปรุงแต่งความคิดที่มีเจตนาเป็นตัวนำ เป็นผลให้เกิดการกระทำทั้งที่เป็นกุศล อกุศล หรือ กลางๆ

                สังขารยังแบ่งได้อีก ๔ ประเภท คือ แบ่งตามฐานที่ตั้ง แบ่งตามคุณค่า แบ่งตามกาล และแบ่งตามกรรมที่ยึดครองและกรรมที่ไม่ยึดครอง และสังขารอธิบายได้ใน ๓ ลักษณะ คือ สังขารในขันธ์ ๕ สังขารในปฏิจจสมุปบาท และ สังขารในไตรลักษณ์

               สังขารในขันธ์ ๕ เรียกว่า สังขารขันธ์ ประกอบด้วยเจตสิก ๕๐ ดวง จากเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ดวง ยกเว้นสัญญาเจตสิกและเวทนาเจตสิก เจตสิก คือ สภาพธรรมปรุงแต่งจิต ทำให้เกิดความรู้สึก นึก คิด ที่แตกต่างกัน ทั้งทางที่ดีและไม่ดี ได้แก่ ความโกรธ ความรัก ความสุข ความโลภ เป็นต้น การทำดีหรือทำชั่วที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมทั้งดีและชั่วนั้น ต้องอาศัยเจตสิกซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งหรือสังขารปรุงแต่งจิตให้แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมา สังขารจึงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการกระทำของมนุษย์

                  สังขารในขันธ์ ๕ และสังขารในปฏิจจสมุปบาทมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เกิดพฤติกรรมที่แตกต่างกันหรือมีบุคลิกลักษณะที่มีพื้นนิสัยที่แตกต่างกัน สังขารในขันธ์ ๕ มีเจตสิก ๕๐ ดวงเป็นตัวชี้นำแห่งการกระทำ สังขารในปฏิจจสมุปบาทจะหมายถึงสังขารที่เป็นเจตนาในการจะทำสิ่งที่เป็นบุญ เป็นบาปหรือเป็นสภาวะอันมั่นคงไม่หวั่นไหว ในกระบวนธรรมของปฏิจจสมุป-บาทที่เกิดเป็นเหตุปัจจัยที่สืบเนื่องกันนี้ สังขารเป็นปัจจัยทำให้เกิดภพหรือเกิดชาติหรือเกิดภาวะที่เป็นอยู่หรือพฤติกรรมที่แสดงออกมา สะสมเกิดเป็นวิบาก เกิดเป็นกรรมภพและอุปัตติภพ การกระทำที่สั่งสมมาในอดีตหรือกรรมมีผลให้มีอุปนิสัยที่แตกต่างกัน หรือมีจริตแตกต่างกัน อันเป็นเหตุที่นำมาเกิดในภพปัจจุบันให้มีลักษณะพฤติกรรมแตกต่างกัน

   ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาไม่ได้ให้คำจัดความโดยตรงหรือศึกษาเรื่องพฤติกรรมมนุษย์โดยตรง กระนั้นก็ตามก็ยังมีคำสอนหลายเรื่องที่กล่าวถึงพฤติกรรม ได้แก่ กรรม จริต ๖ และ วาสนา การประพฤติปฏิบัติตนที่ดีหรือเรียกว่ามีพฤติกรรมดีจัดว่าเป็นการทำบุญกิริยาวัตถุ ๓ และเป็นการสั่งสมบุญ ในขณะเดียวกันผู้ที่มีพฤติกรรมที่ดีก็จัดว่าได้พัฒนาฝึกฝนตนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ตามหลักไตรสิกขาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติในธรรมสมาทาน ๔ หรือศึกษาเรื่องอภิชาติ ๖ จะทำให้ทราบถึงแนวคิดเรื่องการแก้ไขการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดีตามแนวของพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง

    สังขารที่มีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์มีอยู่ ๒ นัยที่สำคัญด้วยกัน ประการแรกคือ สังขารในขันธ์ ๕ หรือจากเจตสิกทั้ง ๕๐ ดวง และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมักจะตอบสนองกับปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ ในขณะที่สังขารที่เกิดจากปฏิจจสมุปบาทสามารถอธิบายได้ทั้งแบบปัจจุบันขณะ ปัจจุบันชาติ และแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นสังขารที่ทำให้เกิดลักษณะนิสัย ทัศนคติ ความชอบ ไม่ชอบที่เป็นบุคลิกพื้นฐานในจิตของแต่ละบุคคล สังขารในปฏิจจสมุปบาทอธิบายได้กว้างขวางและครอบคลุมมากกว่าในขันธ์ ๕

    การศึกษาเรื่องอิทธิพลของสังขารที่มีต่อพฤติกรรมมนุษย์ทำให้ทราบว่ามนุษย์สามารถปรับปรุงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เพื่อทำให้ตนเองเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ก็จะทำให้เกิดความสุข ความสงบทั้งภายในใจตนเอง และการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างสันติ ทั้งยังมีประโยชน์ในการที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตด้วย

 ดาวน์โหลด  

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕