หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวปัทมาภรณ์ รัตนบุรี
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๐ ครั้ง
การศึกษาการบริโภคอาหารของชาวอีสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวปัทมาภรณ์ รัตนบุรี ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปฐมวรวัฒน์, ดร.พธ.บ., M.A. (Clinical Psy.), Ph.D (Psy.)
  รศ.ดร.ประดินันท์ อุปรมัย ค.บ.(เกียรตินิยมอันดับสอง),ค.ม.(จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว), ค.ด.(จิตวิทยาการศึกษา)
  อาจารย์ อดุลย์ คนแรง ป.ธ.๙., พธ.บ., อภิ.บ., ศษ.บ., น.บ., ศศ.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                  วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวอีสาน (๒) เพื่อศึกษาการบริโภคอาหารตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ (๓) เพื่อศึกษาการบริโภคอาหารของชาวอีสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยผู้วิจัยได้ทำการศึกษาจาก พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ เอกสารทางวิชาการ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์

      ผลการวิจัยพบว่าการบริโภคอาหารของชาวอีสานที่ครอบคลุม แหล่งอาหาร การหาอาหาร การปรุงอาหาร การถนอมอาหาร ลักษณะการบริโภคอาหารในแต่ละโอกาส ตลอดถึงประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ ที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหารโดยส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น มีแหล่งอาหารที่หาได้ง่ายในธรรมชาติใกล้ตัว การบริโภคอาหารตามฤดูกาล วิธีการและขั้นตอนการปรุงอาหารที่ทำให้ได้สารอาหารหลากหลายครบถ้วนและไม่เป็นพิษต่อร่างกาย  การถนอมอาหารไว้กินในช่วงที่อาหารมีปริมาณลดลง เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ อีกทั้งมีประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ ที่ทำให้คนเห็นคุณค่าของอาหารเลือกบริโภคอาหารได้อย่างถูกต้อง ตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งอาหาร และช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มีกินอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามยังมีการบริโภคอาหารส่วนที่ต้อง เพิ่มเติม ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านทุนมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอก ที่มากระทบและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ปัจจัยภายใน เช่น เพิ่มเติมความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการเลือกวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารให้มีความปลอดภัย หลักการปรุงและการบริโภคที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โทษภัยของอาหารบางชนิดที่มีต่อร่างกาย ความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับการงดอาหารบางประเภทขณะที่ร่างกายเจ็บป่วยหรืออ่อนแอ ปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ปรับปรุงความเชื่อเกี่ยวกับ ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ ให้คนเห็นคุณค่าที่แท้จริงที่แฝงอยู่ใน ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อนั้น ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภคอาหารดิบให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทางด้านปัจจัยภายนอกเช่น เพิ่มหลักการและวิธีการคิดพิจารณาการเลือกรับวัฒนธรรมจากภายนอก โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสังคม ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น  หากสามารถเพิ่มเติม ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นได้จะทำให้การบริโภคอาหารของชาวอีสานมีความสอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสมบูรณ์ ยังประโยชน์มาสู่สังคมและประเทศชาติต่อไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕