หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสาธิต ฐิตธมฺโม (จันทะคาม)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๔ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบมโนทัศน์เรื่องชีวิตและความตาย ในพุทธปรัชญาเถรวาทกับกฤษณมูรติ
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสาธิต ฐิตธมฺโม (จันทะคาม) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ, ดร. พธ.บ. (ศาสนา), M.A. (Phil), M.A. (Pol.Sc.), M.Phil, Ph.D. (Phil.).
  ผศ.ดร. โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ ป.ธ.๗, พธ.บ. (ปรัชญา), M.A. (Bud.), พธ.ด(พระพุทธศาสนา)
  ผศ.ดร. สุวิน ทองปั้น พธ.บ. (ปรัชญา), M.A. (Phil.), Ph.D. (Phil.).
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้   มีวัตถุประสงค์   เพื่อศึกษามโนทัศน์เรื่องชีวิต และความตายในพุทธปรัชญาเถรวาท  เพื่อศึกษามโนทัศน์เรื่องชีวิตและความตายของกฤษณมูรติ  และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบมโนทัศน์เรื่องชีวิตและความตายของพุทธปรัชญาเถรวาทกับกฤษณมูรติ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary research) โดยศึกษาจากพระไตรปิฎก คัมภีร์พระพุทธศาสนา เอกสารวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาเปรียบเทียบ  เชิงวิเคราะห์

ผลการวิจัยพบว่า  พุทธปรัชญาเถรวาท มองความจริงของชีวิตทั้งในแง่รูปธรรม และนามธรรม คือ กายและจิต ทั้งสองสิ่งเป็นสภาพความจริงแท้เช่นเดียวกัน แต่อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามกฎไตรลักษณ์ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีสิ่งใดเป็นสารัตถะ การเปลี่ยนแปลงของกายและจิตเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์อยู่ตลอดเวลา โดยหลักใหญ่พุทธปรัชญาเถรวาทได้แบ่งความตายออกเป็นสองชนิด คือ ความตายที่สิ้นสุดของร่างกายและจิตใจในภพชาติหนึ่ง เรียกว่าชีวิตินทรีย์ หากมีกิเลสอยู่ก็เป็นเชื้อแห่งปัจจัยให้เกิดความสืบเนื่องของชีวิตแห่งภพชาติอื่นต่อไป เพราะจิตมีสภาวะที่เกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยสัมพันธ์กับรูปที่มีลักษณะเกิดดับตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่ และความตายชนิดที่สอง คือ ความดับไปแห่งรูปนามทุกขณะแห่งสังขารธรรมนับครั้งไม่ถ้วนในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เรียกว่า ขณิกมรณะ ดังนั้น ในพุทธปรัชญาเถรวาทจึงให้ความหมายของความตายที่เป็นบทสรุปที่ครอบคุมทั้งในมิติของชีวิตในโลกปรากฏการณ์และมิติที่พ้นไปจากโลกปรากฏการณ์

ส่วนการศึกษามโนทัศน์เรื่องชีวิตและความตายในทัศนะของกฤษณมูรติ ทำให้ทราบถึงว่าความตายทางกายภาพซึ่งเป็นสิ่งที่กฤษณมูรติเห็นว่าเป็นความจริงหนึ่งเพราะเป็นสิ่งที่ประจักษ์อย่างเด่นชัด แต่เขาไม่เห็นด้วยกับบทสรุปที่นิยามความหมายของชีวิตและ  ความตายไว้อย่างตายตัว เห็นว่าชีวิตมนุษย์มีการเคลื่อนไหวในความสัมพันธ์และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่ามนุษย์จะมีคติความเชื่อแบบวัตถุนิยม หรือแบบจิตนิยม แต่ละรูปแบบล้วนเป็นความสืบเนื่องของจิตที่ความคิดสร้างขึ้น การเข้าใจชีวิตและความตายด้วยบทสรุป ทฤษฏี ความเชื่อต่างๆไม่สามารถทำให้มนุษย์เป็นอิสระจากความกลัวได้อย่างแท้จริง  ชีวิตและความตายมิใช่สองสิ่งที่แยกจากกันได้

เมื่อนำทั้งสองแนวคิดมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่า พุทธปรัชญาเถรวาท และ กฤษณมูรติเห็นเหมือนกัน คือ ชีวิตมนุษย์ มีการเคลื่อนไหวในความสัมพันธ์และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ทัศนะที่ต่างกัน คือ กฤษณมูรติ เห็นว่าความตาย เป็นการสิ้นสุดของความคิด    ยุติความสืบเนื่องของความคิด  เรียกว่า  การตาย   ส่วนพุทธปรัชญาเถรวาท  การตาย  เป็น การดับลงของขันธ์ ๕ และความดับไปแห่งรูปนามทุกขณะแห่งสังขารธรรมนับครั้งไม่ถ้วน แต่กฤษณมูรติไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเวียนว่ายตายเกิด เนื่องจากกฤษณมูรติเห็นว่าบทสรุปทฤษฏีเหล่านี้เป็นเพียงเหตุผลซับซ้อนโดยความคิด ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่กำลังเป็นอยู่ โดยภาพ รวมมโนทัศน์เรื่องชีวิตและความตายในพุทธปรัชญาเถรวาทตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎไตรลักษณ์ ซึ่งทำให้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ตามกฎไตรลักษณ์ ถึงขั้นเลยความเป็นตัวตน  หรือเลยความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง  ส่วนไตรลักษณ์เรื่องชีวิตและความตายของกฤษณมูรติตั้งอยู่บนพื้นฐานของอัตตา ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ใน ทุก ๆด้านที่เชื่อมโยงอยู่กับอัตตา และยังไม่ถึงขั้นเลยความเป็นตัวตน

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕