หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระใบฎีกาไพศาล กมฺพูสิริ (มงคลทอง)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๒ ครั้ง
บทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม
ชื่อผู้วิจัย : พระใบฎีกาไพศาล กมฺพูสิริ (มงคลทอง) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol.Sc.)
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโ, ผศ. พธ.บ., ศศ.ม.,รป.ม.(การจัดการความขัดแย้ง)
  ผศ.ดร.ธัชชนันท์ อิศรเดช พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol.Sc.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

         

          การศึกษาวิจัยเรื่อง บทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐมมีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาบทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม  ๒) เพื่อเปรียบเทียบบทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะบทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม เป็นการวิจัยแบบผสม (Mixed Method Research) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In Depth Interview) และเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในพื้นที่การศึกษา เขต ๑ และ เขต ๒ ของจังหวัดนครปฐม จำนวน ๓๔๖ คน โดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire)วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation:S.D.) ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t–test) สำหรับตัวแปรที่มี ๒ ค่า และทดสอบค่าเอฟ (F-test) หรือความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) สำหรับตัวแปรที่มี ๓ ค่าขึ้นไป เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจะทำการเปรียบเทียบความแตกต่างหลายคู่ โดยวิธีหาผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก โดยวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Technique) แล้วเสนอเป็นการเขียนแบบความเรียง

 

 

ผลการวิจัยพบว่า

 

          ๑. บทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม  พบว่า  นักเรียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๕.๓๕) และเมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละข้อพบว่านักเรียนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากทุกข้อ

          ๒. ผลการเปรียบเทียบบทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม ทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์ความแตกต่างตัวแปร พบว่า เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพผู้ปกครอง และระดับผลการเรียน  มีผลให้ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อบทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม ไม่แตกต่างกัน จึงเป็นการปฏิเสธสมมติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ 

          ๓. ผลการศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ปัญหาบทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม ปัญหาที่สำคัญได้แก่ เด็กหนีเรียนบ่อยและไม่เอาใจใส่ในการเรียน  แนวทางในการแก้ไขปัญหา  ได้แก่  ควรตั้งกฎระเบียบข้อบังคับในการลงโทษนักเรียนอย่างหนักในเรื่องหนีเรียน  และส่งเสริมเด็กที่มีความขยันเรียนโดยมีทุนเรียนดีและทุนสำหรับผู้ขยันแต่ขาดทุนทรัพย์ในการเรียน

          ๔.  ผลการสัมภาษณ์ บทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมสรุปได้ว่า ครู ผู้ปกครอง และพระสงฆ์ต้องร่วมกันสอนและอบรมเยาวชน เริ่มจากวินัยในใจตน ฝึกฝนตนให้ไฝ่ดี ไม่ควรให้นักเรียนอยู่ในทฤษฎีหรือวิชาการมากจนเกินไป และควรให้นักเรียนได้ลงมือทำ หรือแสดงผลงานในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดระบบการแข่งขันกันปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้พวกเขาได้แสดงโอกาส นอกจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์แล้ว ธรรมะย่อมสามารถขัดเกลาให้เยาวชนค่อย ๆ เปลี่ยนนิสัยจากการขาดวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ ก็หันมารู้หน้าที่มากขึ้น เกิดจิตสำนึกให้กับเยาวชนมากขึ้น และควรชี้ให้เห็นภาพความสุข ความทุกข์ กรรมเวร รวมถึงบาปที่เป็นผลมาจากกระทำผิด และควรทำให้เด็ก ๆ เปลี่ยนทัศนคติให้พวกเขารู้สึกว่ามาเจอกับพระแล้วได้แต่ความรื่นรมย์ แล้วกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสุขใจและสนุกสนานอย่างร่าเริง ดังนั้นทุกภาคต้องเดินหน้าไปพร้อมกันในรูปแบบของธรรมะ อย่าปล่อยให้เป็นภาระกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วจะเกิดผลสัมฤทธิ์ในที่สุด

          ๕.  ข้อเสนอแนะ บทบาทพระสงฆ์ที่มีต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ในจังหวัดนครปฐม ควรจะให้มีการอบรมธรรมะในด้านต่าง ๆ และแสดงให้เห็นถึงผลดีและผลเสียของการกระทำนั้น และยกตัวอย่าง ให้เยาวชนได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕