หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวอายุษกร งามชาติ
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๐ ครั้ง
การบูรณาการหลักพุทธธรรมเพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนภาวะบกพร่องทางความรัก
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวอายุษกร งามชาติ ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ), ป.ธ.๙, M.A., Ph.D.
  รศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ, ป.ธ.๙, พธ.บ., M.A. (ปรัชญา), อ.ด. (ปรัชญา)
  ดร.ชัยสิทธิ์ ทองบริสุทธิ์, ป.ธ.๓, พธ.บ., M.A. (ปรัชญา), M.A. (จิตวิทยาประยุกต์และการบริการทางจิตวิทยา), Ph.D. (จิตวิทยา)
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์เรื่องการบูรณาการหลักพุทธธรรมเพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนภาวะบกพร่องทางความรักนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่

๑) เพื่อศึกษาภาวะบกพร่องทางความรักและการปรับเปลี่ยนภาวะบกพร่องทางความรักในจิตวิทยาตะวันตก ๒) เพื่อศึกษาภาวะบกพร่องทางความรักและการปรับเปลี่ยนภาวะบกพร่องทางความรักในหลักพุทธธรรม ๓) เพื่อการบูรณาการหลักพุทธธรรมเพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนภาวะบกพร่องทางความรัก

 ผลการวิจัยพบว่า ภาวะบกพร่องทางความรักตามทฤษฎีจิตวิทยาตะวันตก คือภาวะของความต้องการความรัก ภาวะที่รู้สึกขาดแคลนความรักจึงแสวงหาเพื่อมาเติมตามความต้องการให้เต็ม เป็นภาวะของความรักที่ไม่มีวุฒิภาวะ ต้องพึ่งพิงความสุขของตัวเองไว้กับผู้อื่น ไม่มีความเป็นอิสระในตัวเอง การปรับเปลี่ยนภาวะบกพร่องทางความรักให้เป็นภาวะความรักที่ดี ซึ่งเป็นความรักที่บรรลุศักยภาพในตัวเอง เป็นความรักที่มีวุฒิภาวะนั้น บุคคลจะต้องสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในตัวเอง พยายามเอาชนะความยึดติดกับตัวเอง มีความเชื่ออย่างมีเหตุผล สามารถที่จะแยกสิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่คาดหวังออกจากกันได้ ไม่มีความคิดที่บิดเบือนความจริง มีความมั่นคงทางจิตใจและเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถสร้างภาวะความรักที่ดีได้ โดยใช้กระบวนการปรับอารมณ์ความรู้สึก ปรับความคิด ปรับการกระทำ และปรับเป้าหมาย

ส่วนภาวะบกพร่องทางความรักตามหลักพุทธธรรมอธิบายได้ด้วยคำว่า ตัณหา ซึ่งมีความหมายถึง ความปรารถนา ความต้องการ จึงเกิดกระบวนการในการแสวงหา และยึดติดถือมั่นในการครอบครองเป็นเจ้าของด้วยความหวงแหน โดยจำแนกได้ ๒ ประเภทคือ ภาวะบกพร่องทางความรักด้วยอำนาจของตัณหา และภาวะบกพร่องทางความรักด้วยอำนาจทิฏฐิซึ่งเมื่อกล่าวถึงในระดับปรมัตถ์ก็คือจิตที่ประกอบด้วยโลภมูลจิตนั่นเอง และการอธิบายความภาวะบกพร่องทางความรักในพุทธธรรมด้วยคำว่าตัณหานั้นมีความหมายกว้างกว่าการอธิบายภาวะบกพร่องทางความรักในจิตวิทยาตะวันตก และการปรับเปลี่ยนภาวะบกพร่องทางความรักในพุทธธรรมนั้น จำเป็นต้องปรับสภาพจิตใจของบุคคลให้อ่อนโยน ปรับเปลี่ยนความคิดของบุคคลให้มีความคิดดีมีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น  ไม่คิดเบียดเบียนหรือคิดร้ายทำลายตนเองและผู้อื่น มีความเห็นที่ถูกต้อง เข้าใจในกฎแห่งกรรม หมั่นพัฒนาตนให้ดำรงชีวิตอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบัน เพื่อที่จะสามารถสร้างความสุขทางใจให้กับตนเองได้ เมื่อบุคคลปรับสภาพจิตใจให้อ่อนโยนมีเมตตา มีความสุขสงบได้ ก็นำไปสู่ความรักที่ดีงาม แสดงออกทางกายและวาจาที่เปี่ยมด้วยเมตตา ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากจิตใจที่เปี่ยมด้วยเมตตา เป็นภาวะความรักที่ดีงาม

เมื่อศึกษาองค์ความรู้ทั้งสองสาขาวิชาและนำประเด็นที่สอดคล้องกันมาผสมผสานเพื่อบูรณาการร่วมกัน ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ คือ การปรับเปลี่ยนภาวะบกพร่องทางความรักเชิงพุทธบูรณาการ โดยใช้หลักการของจิตวิทยาตะวันตกเป็นกรอบ คือ การปรับอารมณ์ความรู้สึก การปรับความคิด การปรับพฤติกรรม และการปรับเป้าหมาย และนำหลักพุทธธรรมมาบูรณาการร่วมกับหลักการของจิตวิทยาที่เป็นกรอบนั้น โดยการนำบุคคลให้กลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน และนำกุศลธรรมมาแทนที่อกุศลธรรม เพื่อปรับเปลี่ยนความรู้สึกทางลบให้กลายเป็นบวก การใช้กุศโลบายในการระงับความโกรธเคือง เพื่อให้เกิดความคิดให้อภัย รวมทั้งการปรับเปลี่ยนความคิด ให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ไม่มีความคิดที่บิดเบือน สามารถปรับเปลี่ยนความคิดที่เป็นไปในแง่ลบ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ เกิดความคิดในแง่บวก ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกเชิงบวก และนำหลักคำสอนไตรลักษณ์ และการอธิบายตามเหตุปัจจัยในพุทธธรรมมาบูรณาการให้เข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นตามสภาพความเป็นจริงอย่างผู้ที่เข้าใจธรรมชาติว่าสิ่งต่างๆนั้นล้วนมีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ไม่สามารถคงสภาพเดิมได้ตลอดไป เพราะทุกอย่างในโลกนั้นไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เมื่อปรับเปลี่ยนความคิดอย่างมีเหตุผลได้แล้วย่อมเป็นปัจจัยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดพฤติกรรมที่ดีงามได้ต่อไป รวมทั้งปรับเปลี่ยนเป้าหมายจากการที่มุ่งเน้นสิ่งต่างๆเข้ามาหาตนเองให้ขยายขอบเขตในการเกื้อกูลเพื่อผู้อื่นด้วย เนื่องจากความปรารถนามุ่งเน้นที่ตัวเองย่อมจะส่งผลให้บุคคลประสบกับภาวะบกพร่องทางความรักได้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายให้มีขอบเขตขยายกว้างขวางแผ่ไปเพื่อเกื้อกูลแก่ผู้อื่น

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕