หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วรฤทัย บุญคงชล
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๗ ครั้ง
ประสิทธิภาพการให้บริการชุมชนตามหลักอิทธิบาท ๔ ของสำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
ชื่อผู้วิจัย : วรฤทัย บุญคงชล ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.เติมศักดิ์ ทองอินทร์ พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol.Sc)
  อาจารย์ พระมหาสม กลฺยาโณ พธ.บ., M.S.W., Ph.D.(S.W.)
  ผศ.ดร.โกนิฎฐ์ ศรีทอง พธ.บ., M.A., Ph.D. (Soc.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  (๑) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการให้บริการชุมชนตามหลักอิทธิบาท ๔ ของสำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ตามความคิดเห็นของประชาชน (๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นประชาชนต่อประสิทธิภาพการให้บริการชุมชนตามหลักอิทธิบาท ๔ ของสำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลและ (๓) เพื่อศึกษาปัญหา  อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อประสิทธิภาพการให้บริการชุมชนตามหลักอิทธิบาท ๔  ของสำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร จำนวน ๕ ชุมชนซึ่งมีประชากร ๒,๘๐๒ คน ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๓๓๘ คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของประชากร คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ระดับความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพการให้บริการชุมชนตามหลักอิทธิบาท ๔ ของสำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร คือ ค่าความถี่ (Frequencies) ร้อยละค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)และทดสอบสมมติฐานโดยเพื่อบรรยายข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล การทดสอบค่าที(t-test) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม และการทดสอบค่าเอฟ(F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One Way ANOVA) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (In-depth Interview) โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

 

 

ผลการวิจัยพบว่า

๑) ประสิทธิภาพการให้บริการชุมชนตามหลักอิทธิบาท ๔ ของสำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ประชาชนมีความคิดเห็นโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( =๓.๑๗) เมื่อพิจารณา เป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน

๒) เปรียบเทียบประสิทธิภาพการให้บริการชุมชนตามหลักอิทธิบาท ๔ ของสำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ สถานะในครอบครัว อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ต่อเดือนพบว่า ประชาชนที่มีสถานะในครอบครัว อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษาต่างกัน มีความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพการให้บริการชุมชนตามหลักอิทธิบาท ๔ ของสำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

                ๓) ปัญหา  อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อประสิทธิภาพการให้บริการตามหลักอิทธิบาท ๔ ของสำนักงานเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ดังนี้

                  (๑) ด้านฉันทะ  เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักธรรมข้อนี้(ฉันทะ) จึงทำให้การทำงานมีความบกพร่อง ไม่มีความพอใจในการงานที่ทำ เกิดความรู้สึกซ้ำซาก จำเจ ต่องานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการทำงานที่เฉื่อยชาไม่กระตือรือร้น การบริหารจัดการงานควรมีรูปแบบใหม่ๆบ้าง ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความท้าทายในงานและเกิดความกระตือรือร้นที่จะทำงาน

                  (๒) ด้านวิริยะ เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักธรรมข้อนี้(วิริยะ) จึงทำให้การทำงานมีความบกพร่อง ไม่มีความเพียรพยายามในการงานที่ทำ บุคลากรไม่สู้งาน ไม่มานะบากบั่นและขาดการฝึกฝนฝีมือจึงทำให้ไม่เกิดความชำนาญในการปฏิบัติงานจริง งานที่ได้รับมักด้อยประสิทธิภาพ ควรกำหนดช่วงเวลาในการทำงานอย่างเหมาะสม มีการผ่อนคลายการทำงานเป็นระยะ

                 (๓) ด้านจิตตะ เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักธรรมข้อนี้(จิตตะ) จึงทำให้การทำงานขาดการเอาใจใส่บางครั้งปฏิบัติงานด้วยความเหม่อลอยไม่รับรู้ในสิ่งที่ตนกำลังดำเนินการอยู่ เมื่อเกิดปัญหาก็หาสาเหตุของปัญหาไม่ได้เนื่องจากไม่ได้ตั้งสติ ควรตั้งเป้าหมายและความตั้งมั่นเป้าหมายแห่งความสำเร็จ งานที่ดำเนินการอยู่ให้จิตใจจดจ่อในงาน ผู้บังคับบัญชาต้องหมั่นเตือนเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจ เมื่อเกิดปัญหาก็หาสาเหตุของปัญหาด้วยสติ

                 (๔) ด้านวิมังสา เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักธรรมข้อนี้(วิมังสา) จึงทำให้การทำงานขาดความรอบคอบเนื่องจากไม่มีการไตร่ตรองทบทวน เจ้าหน้าที่ขาดการวางแผนในการปฏิบัติงาน เมื่อพบข้อบกพร่องของงานแต่ไม่นำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานครั้งต่อไป การลงมือปฏิบัติงานทุกครั้งควรมีการวางแผนในการปฏิบัติงาน ควรนำข้อบกพร่องของงานมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานครั้งต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำซาก

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕