หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายวิวรรธน์ สายแสง
 
เข้าชม : ๒๐๐๕๑ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบพระวินัยของภิกษุกับภิกษุณี ในพระพุทธศาสนาเถรวาท : ศึกษาเฉพาะกรณีปาจิตตีย์ (๒๕๔๗)
ชื่อผู้วิจัย : นายวิวรรธน์ สายแสง ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๔/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
 
 
 
วันสำเร็จการศึกษา : ๒ มีนาคม ๒๕๔๗
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพระวินัยของภิกษุกับภิกษุณีในพระพุทธศาสนาเถรวาท ศึกษาเฉพาะกรณีอาบัติปาจิตดีย์ที่ปรากกฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาระดับพระไตรปิฏกอรรถกถาและฏีกาโดยเน้น ปาจิตดีย์ในมหาวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์ จำนวนสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณี เหตุผลในการบัญญัติปาจิตดีย์ ความหนักเบาของโทษที่ภิกษุและภิกษุณีผู้ละเมิดได้รับ สิกขาบทที่เป็นโลกวัชชะและเป็นปัณณัตติวัชชะ สิกขาบทที่เป็นมูลบัญญัติและอนุบัญญัติ สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเพื่อระงับความโลภ ความโกรธ ความหลง กุศลกรรมบถ ๑๐ ถือเป็นแบบอย่างในการเปรียบเทียบพระวินัย โดยเฉพาะกรณีปาจิตดีย์ สำหรับผู้ศึกษาและปฏิบัติต่อไป
     ผู้วิจัยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น ๕ บท ในแต่ละบทได้ศึกษางานสำคัญ ดังนี้
     บทที่ ๑ ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการวิจัย
     บทที่ ๒ แนวคิดเรื่องปาจิตดีย์ของภิกษุในพระไตรปิฏกอรรถกถาและฏีกาโดยนำเสนอรายละเอียด ในส่วนเป้าหมาย มูลเหตุ วัตถุประสงค์ กระบวนการขั้นตอนในการบัญญัติสิกขาบท จำแนกหมวดหมู่สิกขาบท และสรุปวิเคราะห์สิกขาบท
     บทที่ ๓ แนวคิดเรื่องปาจิตดีย์ของภิกษุณีในพระไตรปิฏกอรรถกถาและฏีกาซึ่งมีรายละเอียดทำนองเดียวกับในฝ่ายของภิกษุ
     บทที่ ๔ ศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องปาจิตดีย์ของภิกษุกับภิกษุณีในพระไตรปิฏกอรรถกถาและฏีกา
     บทที่ ๕ สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
     จากการศึกษาการเปรียบเทียบพระวินัยของภิกษุกับภิกษุณี ในพระพุทธศาสนาเถรวาท : ศึกษาเฉพาะกรณีปาจิตดีย์ ผู้วิจัยพบความสำคัญของอาบัติปาจิตดีย์ ดังต่อไปนี้
    ปาจิตดีย์เฉพาะของฝ่ายภิกษุที่ต้องรับปฏิบัติมี ๒๒ สิกขาบท มีสิกขาบทที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภิกษุณี ๑๐ สิกขาบท เช่น สิกขาบทที่ ๑ แห่งโอวาทวรรคว่า "ภิกษุไม่ได้รับแต่งตั้งสอนภิกษุณี ต้องอาบัติปาจิตดีย์" และต้องอาบัติปาจิตดีย์ซึ่งเป็นการกระทำของภิกษุเองโดยเฉพาะ เช่น ในสิกขาบทที่ ๑ แห่งรตนวรรคว่า "ภิกษุไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเข้าไปในพระตำหนักที่บรรทมที่พระราชาประทับอยู่กับพระมเหสี ต้องอาบัติปาจิตดีย์"
     ปาจิตดีย์ที่เป็นสิกขาบทใช้ด้วยกัน คือ ภิกษุและภิกษุณี ต้องรับปฏิบัติร่วมกัน ๗๐ สิกขาบท ซึ่งเป็นอาบัติที่เพศใดก็ตามไม่ว่าชายหรือหญิงล่วงละเมิดแล้วต้องอาบัติปาจิตดีย์เหมือนกัน เช่น ในสิกขาบทที่ ๑ แห่งมุสาวาทวรรคว่า "ภิกษุ (ภิกษุณี) กล่าวเท็จทั้งที่รู้ ต้องอาบัติปาจตดีย์"
     ปาจิตดีย์เฉพาะของฝ่ายภิกษุณีที่ต้องรับปฏิบัติมีจำนวน ๙๖ สิกขาบท ซึ่งเกี่ยวข้องกับภิกษุณีโดยเฉพาะทั้งที่เป็นการกระทำของภิกษุณีเอง เช่น ในสิกขาบทที่ ๑ แห่งลสุณวรรคว่า "ภิกษุณีฉันกระเทียม ต้องอาบัติปาจิตดีย์" และเกี่ยวกับสภาพร่างกายของผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น ในสิกขาบทที่ ๑๓ แห่งฉัตตุปาหนวรรคว่า "ภิกษุณีไม่มีผ้ารัดถันเข้าไปในหมู่บ้าน ต้องอาบัติปาจิตดีย์"
     ในจำนวนสิกขาบทของฝ่ายภิกษุและฝ่ายภิกษุณีนั้น เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะเห็นว่า สิกขาบทที่ภิกษุณีจะพึงรักษามีมากกว่าของภิกษุ เพราะมีสิกขาบทที่จำกัดเฉาพะความเป็นหญิงจริงร่วมอยู่ด้วย ทั้งนี้ก็ผล คือ ความเป็นระเบียบของคณะสงฆ์และความสงบสุขทั้งฝ่ายภิกษุและภิกษุณี

Download : 254704.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕