หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนิพัทธ์ธรรมโสภณ (บุญลือ ชวโน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๕ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระอุปัชฌาย์ในการสอนมูลกรรมฐาน
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนิพัทธ์ธรรมโสภณ (บุญลือ ชวโน) ข้อมูลวันที่ : ๓๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี, ดร.ป.ธ.๙, ศษ.บ., พธ.บ., อ.ม., กศ.ด.
  ผศ. อานนท์ เมธีวรฉัตร ป.ธ.๖, น.ธ.เอก., พธ.บ., กศ.ม.
  อาจารย์วัฒนะ กัลยาณ์พัฒนกุล ป.ธ.๙, น.บ., กศ.ม. (บริหารการศึกษา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษาบทบาทของพระอุปัชฌาย์ที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษามูลกรรมฐาน (๓) เพื่อวิเคราะห์บทบาทของพระอุปัชฌาย์ในการสอนมูลกรรมฐาน การศึกษาวิจัยนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก หนังสือ เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

    รูปแบบการบรรพชาอุปสมบทในสมัยพุทธกาลมี ๓ รูปแบบ ได้แก่ ๑) เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือการบรรพชาอุปสมบทที่พระพุทธองค์ทรงประทานการบรรพชาอุปสมบทด้วยพระองค์เอง ๒)    ไตรสรณคมน์ คือ การบรรพชาอุปสมบทด้วยการถึงไตรสรณะ และ ๓) ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา คือ การบรรพชาอุปสมบทที่มีพระสงฆ์เป็นใหญ่ โดยการบรรพชาอุปสมบทแบบญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทานี้ ยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนการแก้ไขปัญหาการบรรพชาอุปสมบทในสมัยพุทธกาลนั้น คณะสงฆ์และพระอุปัชฌาย์ถือได้ว่า เป็นกำลังสำคัญในการบรรพชาอุปสมบท เพราะเป็นบุคคลที่คอยคัดสรรและนำอุปสัมปทาเปกขะเข้ามาใช้ชีวิตในพระศาสนา อีกทั้งยังเป็นผู้คอยดูแล    ให้การศึกษาอบรมสัทธิวิหาริกให้ได้รับการศึกษาตามวัตถุประสงค์ของพระศาสนา คือ การอบรม  พระธรรมวินัย และการปกครองสัทธิวิหาริกในสังกัดของตนเอง

             มูลกรรมฐาน หรือ ตจปัญจกกรรมฐานเป็นพื้นฐานหรือรากเง้าของกรรมฐานทั้งปวงที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ให้พระอุปัชฌาย์สอนกุลบุตรที่บวชใหม่เพื่อเป็นแนวทางหรือเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติกรรมฐานขั้นต่อไป การอุปสมบทในประเทศไทยปัจจุบันมีวิธีการอุปสมบทอยู่ ๒ แบบ ได้แก่ ๑) วิธีการอุปสมบทแบบมหานิกาย เรียกว่า แบบอุกาสะ และ ๒) วิธีการอุปสมบทแบบธรรมยุต เรียกว่า แบบเอสาหัง ทั้งสองแบบนี้มีวิธีการสอนมูลกรรมฐานที่คล้ายกันในส่วนของวิธีการปฏิบัติกรรมฐานนั้น สามารถปฏิบัติได้ทั้ง ๒ วิธี คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน

             วิธีการสอนมูลกรรมฐานของพระอุปัชฌาย์นั้น พระอุปัชฌาย์ยังขาดทักษะด้านการสอนมูลกรรมฐาน ไม่สามารถย่นย่อวิธีการสอนให้แก่ผู้อุปสมบทให้มีความเข้าใจได้ รวมถึงเมื่อประกอบพิธีกรรมการอุปสมบทสิ้นสุดลงแล้วภิกษุผู้บวชใหม่มิได้อยู่จำพรรษากับอุปัชฌาย์ แต่ไปอยู่จำพรรษาในวัดหรือสำนักอื่นเป็นเหตุให้ไม่รู้ไม่เข้าใจในมูลกรรมฐานจึงประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้องเข้าใจผิดคิดว่า   ได้ฤทธิ์ ได้ฌาน ได้คุณวิเศษ ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นต่อสังคมไทยปัจจุบันตามสื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้รวดเร็วทำให้สังคมเสื่อมศรัทธาลงจากพระพุทธศาสนา ภิกษุผู้บวชใหม่จึงควรสนใจให้เป็นอย่างมากเรื่องของการปฏิบัติกรรมฐานเพื่อจะได้พัฒนากรรมฐานที่สูงขึ้นต่อไป ฉะนั้นอุปัชฌาย์ คือพระเถระผู้ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาประพฤติพรหมจรรย์ แล้วให้การสั่งสอนแก่ภิกษุผู้บวชใหม่ที่ตนบวชให้นั้น ดูแลรับผิดชอบหล่อหลอมพฤติกรรมของศิษย์เหล่านั้นด้วยระเบียบ ที่เรียกว่าพระวินัย สอนมูลกรรมฐาน อันเป็นส่วนสำคัญของการบรรพชาอุปสมบทเพื่อขัดเกลากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย แนะนำให้ฝึกฝนภาวนาขัดเกลาจิตใจให้สะอาด สว่างสงบด้วยสมาธิอันนำไปสู่ความรู้แจ้งเห็นแจ้งที่เรียกว่าปัญญาเพื่อความเป็นศาสนบุคคลที่ ดังนั้น พระอุปัชฌาย์จึงมีความหมายครอบคลุม ๓ ลักษณะ คือ (๑) เป็นผู้ที่ให้กำเนิดศาสนบุคคล คือพระภิกษุ สามเณร โดยให้การบรรพชาอุปสมบท (๒) เป็นผู้ให้การศึกษาพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์ของตน และ (๓) เป็นผู้ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรคอยชี้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามเชิดชูพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕