หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวอรภัคภา ทองกระจ่างเนตร
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๐ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์สมาธิกับการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวอรภัคภา ทองกระจ่างเนตร ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร, ผศ.ดร. ป.ธ.๙,M.A. (Pali& Sanskrit),Ph.D.
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี ป.ธ.๘, พธ.บ., พธ.ม.(ธรรมนิเทศ)
  ดร.นันทพล โรจนโกศล วศ.บ.,พธ.ม., พธ.ด.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ  (๑)เพื่อศึกษาเรื่องสมาธิในพระพุทธศาสนาเถรวาท  (๒)  เพื่อศึกษาเรื่องการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท  และ
(๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สมาธิกับการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลการวิจัยพบว่า สมาธิตามรูปศัพท์ หมายถึง ธรรมที่ข่มจิตอันฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ให้สงบลง สมาธิตามอรรถะ หมายถึง ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สมาธิสามารถจำแนกได้หลายประเภท คือ ตามลักษณะ ตามหน้าที่ ตามอาการที่ปรากฏ และตามปทัฏฐาน ในคัมภีร์
ชั้นอรรถกถา แยกสมาธิออกเป็นระดับ    ๓ ระดับ    คือ   (๑) ขณิกสมาธิ    (๒)  อุปจารสมาธิ  และ
(๓) อัปปนาสมาธิ  สมาธิมีหมวดธรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเด็นที่สนใจ คือ นิวรณ์เป็นอุปสรรคของสมาธิ  สมาธิเป็นส่วนหนึ่งของไตรสิกขา และสมาธิกับโพธิปักขิยธรรม นอกจากนี้การฝึกสมาธิยังมีอานิสงส์หลายประการ ซึ่งงานวิจัยนี้มุ่งเน้นเรื่องอภิญญา

การบรรลุธรรมในพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง การได้ การเข้าถึง การสำเร็จ การทำให้แจ้งธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท การบรรลุธรรมมีความสำคัญ เนื่องจากการบรรลุเป็นการบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือ พระนิพพาน โดยมีวิธีการปฏิบัติอยู่ ๔ แนวทาง คือ (๑) วิปัสสนามีสมถะนำหน้า (๒) สมถะมีวิปัสสนานำหน้า (๓) สมถะและวิปัสสนาคู่กัน และ
(๔) วิธีปฏิบัติเมื่อจิตถูกชักให้เขวด้วยธรรมุธัจจ์   ทั้ง ๔ แนวทางนี้เป็นต้นแบบของกัมมัฏฐาน ๒ วิธี     คือ  สมถยานและวิปัสสนายาน   ซึ่งต้องอาศัยหลักปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรม  คือ โพธิปักขิยธรรม นอกจากนี้เกณฑ์ที่ใช้แบ่งระดับของการบรรลุธรรม เรียกว่าสังโยชน์ เป็นตัวแบ่งระดับของ
พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ วิธีการบรรลุพระอรหันต์ หลังจากการบรรลุธรรมหากได้สมาธิระดับหนึ่ง จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับความสามารถพิเศษหลังการบรรลุธรรมเรื่องอภิญญา ๖ คือ (๑) อิทธิวิธิ  (๒) ทิพพโสต  (๓) เจโตปริยญาณ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  (๕) จุตูปปาตญาณ และ (๖) อาสวักขยญาณ

การนำเสนอเรื่องสมาธิกับการบรรลุธรรม พบว่าการฝึกสมาธิเป็นส่วนหนึ่งของ
วิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมทุกวิธี ทั้งวิธีที่เรียกสมถปุพพังคมวิปัสสนา(วิปัสสนามีสมถะนำหน้า)  วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ(สมถะมีวิปัสสนานำหน้า)   ยุคนัทธสมถวิปัสสนา(สมถะและวิปัสสนา
คู่กัน) และธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส(วิธีปฏิบัติเมื่อจิตถูกชักให้เขวด้วยธรรมุธัจจ์)  นอกจากนี้สมาธิยังสามารถนำมาเป็นอุปกรณ์ของวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม ไม่เพียงเท่านี้สมาธิยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับหลักปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมซึ่งมีชื่อว่า โพธิปักขิยธรรม หลังจากนั้นหากการพิจารณาสมาธิมุ่งสู่ขณะบรรลุธรรม จะพบว่า สมาธิเป็นองค์ธรรมขณะบรรลุธรรม กล่าวคือ ในขณะบรรลุธรรมจะต้องมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหนึ่งที่ปฏิบัติการอยู่   สมาธิยังเกี่ยวข้องกับระดับของการบรรลุธรรม กล่าวคือ พระโสดาบันและพระสกทาคามี มีระดับสมาธิพอประมาณ ส่วนพระอนาคามีและ
พระอรหันต์ มีระดับสมาธิที่สมบูรณ์ ท่านทั้งสองสามารถเข้าผลสมาบัติชั้นสูงคือนิโรธสมาบัติได้ ซึ่งเป็นปฏิปทาของวิธีปฏิบัติของพระสมถยานิก ยกเว้นพระอนาคามีกับพระอรหันต์ที่เป็น
สุขวิปัสสกเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ นอกจากนั้นสมาธิยังมีผลทำให้ผู้บรรลุธรรมได้อภิญญา ๖ ซึ่งพระอรหันต์ทุกท่านต้องได้ ข้ออาสวักขยญาณ ส่วนข้ออื่น พระอรหันต์จะได้แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับการฝึกฝนสมาธิที่ชำนาญต่างกัน โดยนำเสนอกรณีตัวอย่าง เช่นพระนางสามาวดี นางอุตตราอุบาสิกา  พระสารีบุตร พระจูฬปันถก ธัมมิกอุบาสก พระอนุรุทธะ และพระโมคคัลลานะ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕