หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระชัยณรงค์ วิทิโต (ร่องมะรุด)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
การประยุกต์หลักศีล ๕ เพื่อพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในสังคม
ชื่อผู้วิจัย : พระชัยณรงค์ วิทิโต (ร่องมะรุด) ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระหัสดี กิตฺตินนฺโท, ดร. พธ.บ., M. A., Ph.D.
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพงษ์ คงสัตย์, พธ.บ., M.A., ปร.ด.
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักศีล ๕ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒)  เพื่อศึกษาพฤติกรรมของบุคคลในสังคม (๓) เพื่อประยุกต์หลักศีล ๕ พัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในสังคม และการวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Document Research) ใช้ข้อมูลจาก คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และเอกสารหนังสือ รวมทั้งวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เรียบเรียงเชิงพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า

ศีล ๕ เป็นหลักมนุษยธรรม เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม การไม่พูดเท็จ และการไม่ดื่มสุราเมรัย ศีล เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมเป็นลักษณะ มีความปรกติทางกายวาจาเป็นที่ตั้ง โดยมีองค์ประกอบของศีล ๕ แต่ละข้อ คือ เจตนา เป็นความไม่ก้าวล่วงทางกาย และวาจา ให้พ้นจากความชั่วทั้งปวง ย่อมมีความสงบสันติสุขในชีวิตปัจจุบัน และอนาคตเป็นอานิสงส์ และในตรงกันข้าม โทษของการละเมิดศีล เป็นเหตุให้ประมาทเป็นบ่อเกิดแห่งภัยเวรโดยประการต่างๆ ย่อมประสบทุกข์ทั้งในปัจจุบัน และสัมปรายภพ บั่นทอนความก้าวหน้าความเจริญ และความสงบสันติสุขในการดำเนินชีวิต

พฤติกรรมของมนุษย์ เป็นผลอันเกิดจากการปฏิกิริยาโดยอาศัยระบบต่างๆ ทางร่างกาย และจิตใจ คือ ระบบประสาท กล้ามเนื้อ ระบบต่อม และสิ่งเร้าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดสภาวะจิตใจที่รับรู้อารมณ์ จึงแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาทางกาย วาจา และใจ และแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่ออารมณ์นั้นๆ ทั้งด้านที่ดี และในด้านที่ไม่ดี กล่าวคือ พฤติกรรมด้านที่ไม่ดี เป็นพฤตกรรมที่แสดงออกมาต่อโลกภายนอก ที่ประกอบด้วยการประพฤติผิดในศีล ๕  มีการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มสุราเมรัย และขาดความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการตัดสินปัญหา  ส่วนพฤติกรรมด้านที่ดี เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาต่อโลกภายนอก ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีหิริ โอตตัปปะ มีเมตตากรุณาประพฤติชอบทางกายวาจา และใจ เป็นที่ตั้ง

หลักศีล ๕ ประยุกต์พัฒนาพฤติกรรมที่ไม่ดี คือ การนำหลักศีลไปประพฤติปฏิบัติพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในสังคมที่ประพฤติผิดในศีล ให้ประพฤติชอบทางกายวาจา และใจ โดยอาศัยองค์ธรรมในศีล ๕ ประการ คือ  เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นพฤติกรรมที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นมาทางกายวาจา และใจ เพื่อให้ ลด ละ เลิก เว้น พฤติกรรมที่ไม่ดี เป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรมต่างๆ คือ ความมีเมตตา กรุณา มีหิริ โอตตัปปะ ความซื่อสัตย์สุจริตให้ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามแนวทางพระพุทธศาสนา

หลักศีล ๕ ประยุกต์พัฒนาพฤติกรรมที่ดี คือ การนำหลักศีลไปประพฤติปฏิบัติ โดยประกอบด้วยธรรมหลายๆ อย่าง โดยอาศัยจิตใจเป็นที่ตั้ง ให้ความประพฤติชอบทางกาย วาจา มีความสงบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น คือ (๑) มีเจตนาตั้งใจเว้น (๒) มีเจตสิก คือ ความงดเว้น (๓) มีความสังวรด้วยสติ (๔) มีความไม่ก้าวล่วงกิเลสอย่างหยาบทางกายวาจา จึงเป็นศีลประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ มีความสำรวมระวัง ทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขสงบสันติ ดำเนินชีวิตถูกต้องตามแนวทางพระพุทธศาสนา และดับทุกข์ได้ในที่สุด

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕