หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี/โอฐสู
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๐ ครั้ง
การสร้างตัวชี้วัดเพื่อวิเคราะห์อินทรีย์ ๕ เปรียบเทียบกับญาณ ๑๖ ในผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี/โอฐสู ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร ผศ.ดร. ป.ธ. ๙, M.A., (Pali&Sanskrit), Ph.D. (Pali )
  ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ วศ.บ. (วิศวกรรมไฟฟ้า), วศ.ม. (เทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
  ดร. จุฑามาศ วารีแสงทิพย์ อ.บ. (อภิธรรมบัณฑิต), วท.บ. (การพยาบาลเกียรตินิยม), พธ.ม. (พระพุทธศาสนา), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อวิเคราะห์ความหมายและความสำคัญของอินทรีย์ ๕ และญาณ ๑๖ (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างญาณ ๑๖ กับอินทรีย์ ๕ และ (๓) เพื่อสร้างตัวชี้วัดของความเป็นอินทรีย์ ๕ เปรียบเทียบกับระดับญาณ ๑๖

วิธีการวิจัย เป็นการศึกษาด้านเอกสารและด้านภาคสนาม โดยศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาเรื่องอินทรีย์ ๕ และญาณ ๑๖ ภายใต้รูปแบบการเจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วนำมาสร้างเป็นแบบประเมินอินทรีย์ ๕ ก่อนและหลังการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาประกอบด้วยนิสิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่สมัครเข้าปฏิบัติในโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา ๒๕๕๕ ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๑๔ ธันวาคม จำนวน ๒๐๐ รูป/คน โดยใช้แบบประเมินอินทรีย์ ๕ ซึ่งสร้างขึ้นจากการศึกษาด้านเอกสาร

ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่า แนวคิดเรื่องอินทรีย์ ๕ คือความเป็นใหญ่ในอำนาจหรือหน้าที่ของตน และมีความสำคัญ ๕ ประการ คือ (๑) สัทธินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการเชื่อมั่นเลื่อมใส (๒) วิริยินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในความเพียรที่ไม่ย่อท้อ (๓) สตินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการยังจิตให้รู้เท่าทัน (๔) สมาธินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในการตั้งมั่น (๕) ปัญญินทรีย์ มีความเป็นใหญ่ในการหยั่งรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง และอินทรีย์ทั้ง ๕ เป็นหลักสำหรับปฏิบัติธรรม และเป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องวัดความพร้อมและบ่งชี้วัดความก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติวิปัสสนกรรมฐาน และแนวคิดเรื่องญาณ ๑๖ คือผลของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานที่มีการปรับอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้สมดุลกัน ญาณ ๑๖ ย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ มีนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างญาณ ๑๖ กับอินทรีย์ ๕ คือเมื่อสัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ และสติของผู้ปฏิบัติที่เป็นวิปัสสนายานิกะ หรือผู้ที่เป็นสมถยานิกะเสมอกัน ย่อมเกิดปัญญาที่เรียกว่า ญาณ ๑๖

การสร้างตัวชี้วัดเพื่อความเป็นอินทรีย์ ๕ เปรียบเทียบกับญาณ ๑๖ โดยได้แนวคิดมาจากการเปรียบเทียบวิสุทธิ ๗ กับญาณ ๑๖ ในการสร้างตัวชี้วัดครั้งนี้ ใช้ความสมดุลของอินทรีย์ ๕ ไปเปรียบเทียบกับรูปแบบของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ แบบที่ ๑ เปรียบเทียบสัทธินทรีย์คู่กับปัญญินทรีย์ในรูปแบบของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือการเดินจงกรม การนั่งสมาธิ การกำหนดทางทวาร ๖ และอิริยาบถย่อย แบบที่ ๒ วิริยินทรีย์คู่กับสมาธินทรีย์ในรูปแบบของการเดินจงกรม แบบที่ ๓  มีสตินทรีย์เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงทั้ง ๒ คู่ให้สมดุลกันในรูปแบบการกำหนดทวาร ๖ และอิริยาบถย่อย และแบบที่ ๔ เปรียบเทียบสมาธินทรีย์คู่กับวิริยินทรีย์ในรูปแบบของการนั่งสมาธิ

จากการประเมินอินทรีย์ ๕ ก่อนและหลังการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พบว่าค่าเฉลี่ยของระดับคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .๐.๕) ยกเว้นการมีความรู้และความเข้าใจในการกำหนดทางทวาร ๖ และอิริยาบถย่อย อยู่ในระดับปานกลาง ตัวชี้วัดเพื่อความเป็นอินทรีย์ ๕ เปรียบเทียบกับญาณ ๑๖ แบบที่ ๑ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนแบบที่ ๒ แบบที่ ๓ และแบบที่ ๔  อยู่ในระดับปานกลาง สำหรับตัวชี้วัดที่สร้างขึ้นมาจากแบบประเมินอินทรีย์ ๕ มีประโยชน์ในการอธิบายระดับของอินทรีย์ ๕ ด้วยการเกิดขึ้นของญาณที่ง่ายชัดเจนเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ตัวชี้วัดยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหรือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ในสถานที่อื่นๆ และใช้เป็นแนวทางในการสร้างเครื่องมือสำหรับการประเมินผลธรรมหมวดอื่นๆ ได้ด้วย

 

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕