หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระราชปัญญาภรณ์ (สิงห์คำ ชยวํโส)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๘ ครั้ง
กระบวนการสร้างสังคมคุณธรรมแบบมีส่วนร่วมภายใต้รูปแบบธนาคารความดี สำหรับหน่วยอบรมประชาชน
ชื่อผู้วิจัย : พระราชปัญญาภรณ์ (สิงห์คำ ชยวํโส) ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวรมุนี (พล อาภากโร), ป.ธ.๙, ศษ.บ. พธ.บ. (ปรัชญา), M.A.(liguistics), M.Phil., Ph.D. (liguistics),
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น), ป.ธ.๗, ดร., ร.บ. พช.ม. (พัฒนาชุมชน), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
  ดร.พิสิฐ เจริญสุข ป.ธ.๙., อ.ม., Ph.D.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

     การศึกษาวิจัยครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและหลักการเสริมสร้างสังคมคุณธรรมตามแนวพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษารูปแบบและกระบวนการเสริมสร้างสังคมคุณธรรมภายใต้แนวคิดธนาคารความดีของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลหัวง้ม  อำเภอพาน  จังหวัดเชียงราย  และ ๓) เพื่อทดลองและนำเสนอรูปแบบการเสริมสร้างสังคมคุณธรรมเชิงพุทธบูรณาการในการดำเนินงานของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลเขตภาคเหนือ  การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบผสมผสานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณโดยเป็นการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร  และการศึกษาภาคสนาม (Field  Study)       โดยเป็นการสัมภาษณ์  สอบถาม  ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างสังคมคุณธรรมภายใต้แนวคิดธนาคารความดี  และหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในพื้นที่ ๗ จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่  ตาก นครสวรรค์ และแม่ฮ่องสอน 

           ผลการวิจัย  พบว่า ความดีและความมีคุณธรรมนั้น  เป็นรากฐานสำคัญของสังคม เป็นอุดมการณ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์และความสุขแก่ทุกฝ่าย ไม่มีความรุนแรง  ล้างผลาญ  ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  มีความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน สามารถพัฒนาบุคลากรในสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ทั้งทางร่างกายจิตใจ  และสติปัญญา  พระพุทธศาสนามีหลักการในการพัฒนาสังคมไปสู่สังคมที่มีคุณธรรม ๘ ประการ คือ  ความถูกต้อง  ความเสมอภาค  ความยุติรรม  ความสันติ  ความพอเพียง  สามัคคีธรรม  การพึ่งพาอาศัย  การมีศรัทธาและปัญญา  ซึ่งถ้าสังคมใดมีธรรมเหล่านี้ทั้งหมด สังคมนั้นก็จะมีความสงบสุข มีการเกื้อกูลแบ่งปัน และช่วยพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีความสุจริต สามารถก้าวข้ามไปสู่การหลุดพ้นจากกิเลส  ตัณหา  ความอยากต่าง ๆ  ได้  หรือสามารถเข้าถึงธรรมได้ 

         การจัดตั้งกลุ่มธนาคารความดีของชุมชนวัดศรีเมืองมูลตำบลหัวง้ม อำเภอพาน  จังหวัดเชียงราย  เกิดขึ้นภายใต้หน่วยงานที่เรียกว่า หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล มีแนวคิดในการจัดตั้งธนาคารความดี ๒ ประการ  คือ ๑) เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี  มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้เป็นผู้มีคุณภาพ  สามารถที่จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างสงบสุข    ๒) เพื่อพัฒนากระบวนการขับเคลื่อนความดี โดยนำหลักการทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในลักษณะของคะแนนความดี  โดยมีเป้าหมายหลัก  คือเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การเสริมสร้างความดีและสังคมคุณธรรม  การจัดสวัสดิการชุมชน เป็นต้น  ผลจากการดำเนินการธนาคารความดี  สามารถทำให้คนในชุมชนมีความสุข  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยได้รับค่าความดีเป็นสิ่งตอบแทนแล้วสามารถนำมาแลกเป็นสิ่งของได้  

           หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในหนเหนือ  มีกระบวนการและหลักการที่คล้ายคลึงกัน คือ การนำหลักการ    ประการ  คือ  หลักศีลธรรมและวัฒนธรรม สุขภาพ  สัมมาชีพ  สันติสุข  ศึกษาสงเคราะห์  สาธารณสงเคราะห์  กตัญญูกตเวที  และหลักสามัคคีธรรม  มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคคลและสังคม  โดยมีเป้าหมายของการดำเนินการ คือเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  การปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาสังคม  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  การจัดสวัสดิการชุมชน และ  การสงเคราะห์ชุมชน  การใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาควบคู่กับการพัฒนาชีวิต  และสังคม เพื่อให้บุคคลพึ่งพาตนเองได้  มีการยึดมั่นในการทำความดี  มีการช่วยเหลือแบ่งปันสร้างความผูกพันด้วยกิจกรรมการพัฒนา  มีการสื่อสารเพื่อให้คนเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิถีการปฏิบัติ  และมีการฝึกตามหลักไตรสิกขาและหลักภาวนา ๔  เพื่อให้บุคคลทำประโยชน์ตนสมบูรณ์  พึ่งพาตนเองได้ในทุกทาง  ให้มีความพร้อมที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นด้วยความเสียสละ  จากนั้นควรมีการพัฒนาสังคมให้ไปสู่สังคมคุณธรรมที่เกิดประโยชน์และความสุขของทุกคนในสังคม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕