หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางไพลิน องค์สุพรรณ
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์การสร้างบารมีของพระนางพิมพาที่ปรากฏในชาดก (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : นางไพลิน องค์สุพรรณ ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาไพเราะ ฐิตสีโล
  นายสนิท ศรีสำแดง
  นาย รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๓ เมษายน ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์การเกิดร่วมชาติเพื่อสร้างบารมี ๑๐ ประการ ของพระนางพิมพากับพระโพธิสัตว์ คือ (๑) ทานบารมี (๒) ศีลบารมี (๓) เนกขัมมบารมี (๔) ปัญญาบารมี (๕) วิริยบารมี (๖) ขันติบารมี (๗) สัจจบารมี (๘) อธิฐานบารมี (๙) เมตตาบารมี (๑๐) อุเบกขาบารมี
เนื่องจากพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้จนบริบูรณ์เต็มเปี่ยมแล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาเอกในโลก ซึ้งต้องใช้เวลานานแสนนานนับอสงไขย และต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ยาวนาน จะต้องมีบุคคลผู้มีส่วนร่วมคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง สำหรับพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีแล้วมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมนี้
ผู้มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือในการบำเพ็ญบารมีที่สำคัญ คือ พระนางพิมพา พระนางได้ตั้งความปรารถนาขอร่วมสร้างบารมีตั้งแต่พบพระพุทธเจ้าทีปังกร เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ทรงเกิดเป็นสุเมธดาบส
     จากการศึกษา ผู้วิจัยได้ค้นพบประเด็นสำคัญและน่าสนใจ พอสรุปได้ ดังนี้
     พระนางพิมพา ได้ทรงพบพระโพธิสัตว์ ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดเป็นสุเมธดาบส ส่วนพระนางพิมพาเกิดเป็นนางสุมิตตา ทั้งสองได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทีปังกรพร้อมกัน นางทราบว่า สุเมธดาบสปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตเกิดความเลื่อมใส จึงมอบดอกบัวให้พระโพธิสัตว์เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกัน
โดยนางอธิฐานขอเกิดร่วมสร้างบารมีคอยรับใช้สุเมธดาบส จนกว่าจะสิ้นภพสิ้นชาติ
     ต่อจากนั้น พระนางพิมพาได้ทรงเกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์หลายภพชาตินับไม่ถ้วน แต่ที่ปรากฏในชาดกมี ๓๒ ชาติ รวมชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นพระนางพิมพาเป็น ๓๓ ชาติ
     พระนางพิมพา ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือในการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ เป็นเหตุให้พระโพธิสัตว์สร้างบารมีได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถ้าขาดพระนางแล้วการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์คงจะไม่ถึงที่สุด โดยเฉพาะในข้อที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ต้องบำเพ็ญปัญจมหาบริจาคให้ครบถ้วน บารมีที่เด่นชัดของพระนางพิมพา ได้แก่ ความเสียสละและความอดทน
ซึ่งเป็นปัจจัยโดยอ้อมต่อการบรรลุธรรมของพระโพธิสัตว์
     ในชาติสุดท้าย พระนางพิมพา แม้จะทรงลืมความตั้งใจในอดีตชาติโดยรู้สึกเสียพระทัยที่พระโพธิสัตว์เสด็จหนีออกผนวช แต่ภายหลังพระนางก็ทรงเข้าพระทัยแล้วได้ออกบวชบำเพ็ญบารมีจนบรรลุอรหัตตผลสิ้นภพสิ้นชาติ ถือว่าแรงอธิษฐานของพระนางที่ได้ตั้งไว้ในอดีตชาติสมประสงค์
     การตั้งความปรารถนาร่วมกันของพระโพธิสัตว์กับของพระนางพิมพาแล้วอุทิศทั้งกายและจิตใจบำเพ็ญคุณความดีอย่างไม่ย่อท้อ ถือเป็นแบบอย่างที่อนุชนทั้งหลายพึงศึกษาแล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามเหมาะสมแก่เพศ ภาวะ ของแต่ละคน ได้เป็นอย่างดี

 

Download : 254613.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕