หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสายัณห์ ธมฺมธีโร (เศรษฐกิจ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๒ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์มานะในพระพุทธศาสนา (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระสายัณห์ ธมฺมธีโร (เศรษฐกิจ) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร
  ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
  นายบัณฑิต รอดเทียน
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิเคราะห์มานะในพระพุทธศาสนา ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก ประเด็นในการศึกษาวิจัยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความหมาย ประเภทของมานะ ความสัมพันธ์ระหว่างมานะกับหลักคำสอนอื่นๆ ในพระพุทธศาสนา ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมานะ ความหมายทางจริยธรรมและทางออกของมานะ โดยศึกษาในเชิงวิเคราะห์หลักธรรมและจริยธรรม

     ผลของการศึกษาวิจัยทำให้พบได้ว่า มานะในพระพุทธศาสนามีความหมาย คือ

     (๑) มานะเป็นกิเลส แปลว่า ความถือตัว ความสำคัญตน
     (๒) มานะ แปลว่า ความถือตัว ความสำคัญตนนี้ เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยวัตถุเป็นเหตุเกิด และไม่มีวัตถุเป็นเหตุเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแสดงภาวะอาการออกไปได้หลายลักษณะตามเหตุนั้นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเป็นประเภทของมานะหลายประเภท คือ ตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๒ ประเภท เช่น เกิดเป็น ๑ ประเภทเพราะจิตมีความอยากใหญ่ใฝ่สูง เกิดเป็น ๒ ประเภทเพราะยกจิตของตนให้สูงกว่าบุคคลอื่น และข่มบุคคลอื่นไว้ข้างล่าง เกิดเป็น ๓ ประเภทเพราะเป็นการยกจิตของตนไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น คือความถือตัวว่า ตนดีกว่าเขา ตนเสมอเขา ตนเลวกว่าเขา เกิดเป็น ๔ ประเภทเพราะไปยึดถือเอาโลกธรรมฝ่ายที่ชอบใจ ที่พึงพอใจเป็นสาเหตุให้เกิดความถือตัว คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุข เป็นต้น

     มานะมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลักคำสอนอื่นๆ ที่สำคัญในพระพุทธศาสนาในฐานะที่ต้องเป็นไปตามกฎสัจธรรม เช่น สัมพันธ์กับกฎไตรลักษณ์ในฐานะที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เพราะเป้นอนิจจังทุกขัง และอนัตตา สัมพันธ์กับกฎปฏิจจสมุปบาทในฐานะที่มุ่งแสดงลักษณะ)ปรากฏให้เห็นเป็นเหตุเป็นปัจจัย เพราะเมื่อเกิดขึ้นจะเนื่องต่อกันและกันเกิดกับธรรมข้ออื่นๆ สัมพันธ์กับธรรมในฐานะที่ต้องเป็นไปตามพฤติกรรมการกระทำของบุคคลนั้นๆ สัมพันธ์กับอริยสัจในฐานะที่เป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวง และสัมพันธ์กับมนุษย์ในฐานะเป็นกิเลสทีทำให้จิตเศร้าหมอง ที่นอนเนื่องในสันดาน ผูกไว้ในภพ ปั้นแต่งเรื่องราวให้ยุ่งเหยิงวุ่นว่าย ซึ่งเป็นกิเลสที่ทำให้สรรพสัตว์จมอยู่ในกองทุกข์ และวนเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสาร

     มานะในทางจริยธรรม หมายถึง ตัวกระตุ้นเร้า หรือแรงจูงใจ ในการสั่งสอนอบรมบุตรหลาน ให้มีความเพียรพยายามในการดำรงชีวิต ที่อยากจะได้ อยากจะเป็น เป็นความเพียรพยายามที่ให้ได้มาเพื่อสนองความต้องการแก่ตนเอง ถึงจะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แต่เป็นประโยชน์ที่เห็นแก่ตัวที่ทำเพื่อตัวเอง มีโทษแฝงอยู่มาก ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงต้องสั่งสอนพุทธบริษัทให้มีเมตตากรุณาต่อกัน ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ต้องพัฒนาตนให้เป็นคนมีศีล สมาธิ และปัญญาให้สมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนรู้แจ้งชัดมานะว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะสามารถละถอนมานะ จนกระทั่งสามารถบรรลุนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา



 

Download : 254611.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕