หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูธรรมธรแสงชัย กนฺตสีโล (เพชรชื่นสกุล)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๔ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมและการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในอนังคณสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระครูธรรมธรแสงชัย กนฺตสีโล (เพชรชื่นสกุล) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูใบฎีกามานิตย์ เขมคุตฺโต ศน.บ., M.A., Ph.D.
  พระมหาโกมล กมโล ป.ธ.๘, พธ.บ., ศศ.ม.
  ผศ.เวทย์ บรรณกรกุล ป.ธ.๙, พธ.บ., ศษ.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

               การศึกษาเรื่อง  ศึกษาหลักธรรมและการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในอนังคณสูตร  มีวัตถุประสงค์ คือ  เพื่อศึกษาเนื้อหาหลักธรรมในอนังคณสูตร  และเพื่อศึกษาวิธีการเจริญวิปัสสนาภาวนาในอนังคณสูตร  โดยการศึกษาข้อมูลเนื้อหาหลักธรรม  ของอนังคณสูตร  ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ  พระไตรปิฎก  อรรถกถา  ฎีกา  และคัมภีร์อื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  โดยการเรียบเรียงข้อมูล  ตรวจสอบความถูกต้องเนื้อหา  บรรยายเชิงพรรณนา

               จากการศึกษาพบว่า  อนังคณสูตร  เป็นพระสูตรที่พระสารีบุตรสนทนากับ         พระมหาโมคคัลลานะ  โดยในที่ประชุมมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  มีเนื้อหาที่กล่าวถึงกิเลสเพียงดังเนิน  เมื่อศึกษารูปศัพท์และความหมาย  กิเลสเพียงดังเนิน  คือ  ความประพฤติด้วยอำนาจความปรารถนาที่เป็น  บาปอกุศล ได้แก่  ราคะ  โทสะ  โมหะ  โดยในพระสูตรใช้คำว่า ความโกรธ  และความไม่แช่มชื่น  ของภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้วจงใจปกปิดอาบัติ  ไม่ต้องการ   ให้ผู้อื่นรู้

               หลักธรรมในตอนท้ายพระสูตร  พระสารีบุตรได้เสนอข้อปฏิบัติสำหรับภิกษุ         ผู้ออกบวชด้วยศรัทธา  คือ  มั่นคงในปาฏิโมกขสังวรศีล  อินทรียสังวรศีล  โภชเนมัตตัญญุตา  ชาคริยานุโยค  และสติสัมปชัญญะ  หลักปฏิบัติธรรมในตอนท้ายของพระสูตรนี้มีความสอดคล้องกับพระพุทธวจนะที่ตรัสไว้ในหลาย ๆ  พระสูตร เช่น  ลำดับการปฏิบัติเพื่อบรรลุ มรรคผลนิพพาน  ดังที่ตรัสแก่คณกโมคคัลลานพราหมณ์  ในคณกโมคคัลลานสูตร

               กล่าวเฉพาะหลักสติสัมปชัญญะนี้  จากการตรวจสอบเนื้อหาพระสูตร พบว่า  มีคำขยายอธิบายสติสัมปชัญญะที่ถูกต้องสอดคล้องกับพระพุทธวจนะในคณกโมคคัลลานสูตร คือ  หลักอิริยาปถปัพพะ  สัมปชัญญะปัพพะ  ในสติปัฏฐาน ๔  คือ  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  สติที่เข้าไปตั้งมั่นโดยพิจารณาเห็นกาย  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  สติที่เข้าไปตั้งมั่นโดยพิจารณาเห็นเวทนา  จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ  สติที่เข้าไปตั้งมั่นโดยพิจารณาเห็นจิต  และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  สติที่เข้าไปตั้งมั่นโดยพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย  เป็นหลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา  จัดเป็นภาวนามยปัญญา  เพื่อทำความสิ้นไปแห่งทุกข์ทั้งหลาย  การเจริญสติปัฏฐาน ๔  นี้นอกจากจะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาแล้ว  ยังเรียกได้อีกว่า เป็น สัมมาสติ คือ  สติที่ตั้งมั่นไว้ชอบ  ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสเกี่ยวกับสัมมาสติ  คือ  สติที่ตั้งมั่นไว้ชอบใน ๔ ฐาน คือ  กาย  เวทนา  จิต  และ ธรรม  จึงกล่าวได้ว่า  การปฏิบัติวิปัสสนา คือ  การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔  เพื่อพัฒนาเป็นสัมมาสติ  จัดเป็นการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘  ได้อีกด้วย

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕