หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหารังสันต์ กิตฺติปญฺโญ (ใจหาญ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์สุนทรียศาสตร์ในพุทธปรัชญาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหารังสันต์ กิตฺติปญฺโญ (ใจหาญ) ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ ผศ., ดร., ป.ธ.๓, พธ.บ., พธ.ม., Ph.D,
  ผศ. บุญมี แท่นแก้ว ป.ธ. ๕, พ.ม., พธ.บ., M.A., D.I.H.&C. (B.H.U.)
  ผศ. ดร. ประเวศ อินทองปาน ป.ธ. ๕, พ.ม., พธ.บ., M.A., Ph.D.
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

            การศึกษาวิจัยในครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดสุนทรียศาสตร์ในพุทธปรัชญาเถรวาท  โดยประมวลเอาแก่นความคิดทางพระพุทธศาสนา  เรื่องพุทธธรรม  และปรัชญาของเพลโต,  คลีฟเบลล์,  และลีโอ  ตอลสตอยเป็นแม่บท  ทั้งนี้ก็เพื่อประยุกต์โครงสร้างทางความคิดสุนทรียศาสตร์เชิงศีลธรรมของแนวทั้งเหล่านี้ขึ้น  นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงความคิดสุนทรียศาสตร์ทั้งหลาย  ทั้งในส่วนที่มีความคล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน

            ผลจากการศึกษาวิเคราะห์  พบข้อสรุปเกี่ยวกับแนวคิดสุนทรียศาสตร์ในพุทธปรัชญา     เถรวาท  ดังนี้ 

            สุนทรียศาสตร์แบบตะวันตก  มีความเชื่อพื้นฐานที่ขัดแย้งกันตามแต่ละทฤษฎี  ซึ่งศีลธรรมนิยม  และศิลปะนิยม  ล้วนให้เหตุผลแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  และสัมพัทธนิยมได้มีแนวทางในการประนีประนอมทั้งสองทฤษฎีนั้นเข้าด้วยกัน  คุณค่าทางสุนทรียะ  คือคุณสมบัติของวัตถุที่ถูกสร้างสรรค์  และตกแต่งให้เกิดความงาม  ไม่ได้เป็นสุนทรียะเพราะใครๆ  ให้การยอมรับว่าเป็นสุนทรียะ  ความเป็นสุนทรียะไม่ได้มีเพราะการยอมรับว่าเป็นสุนทรียะ  โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนด  หรือตัดสินให้เป็นหรือไม่เป็น  แต่เป็นสุนทรียะเพราะวัตถุนั้นๆ มีคุณสมบัติแห่งความเป็นสุนทรียะแล้วอย่างแท้จริง

            คุณสมบัติทางสุนทรียะนี้  เป็นคุณสมบัติดั้งเดิม  ที่ติดตัววัตถุทางสุนทรียะมาแต่แรกเริ่ม  และมีความเกี่ยวข้องกับวัตถุทางสุนทรียะเพียงอย่างเดียว  เมื่อคุณค่าทางสุนทรียะเป็นคุณสมบัติของวัตถุ  คุณค่าทางสุนทรียะจึงมีลักษณะเป็นสิ่งสัมบูรณ์ (Absolute)  สิ่งที่เป็นสิ่งสัมบูรณ์ย่อมมีค่าที่แน่นอนตายตัว  ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความรู้สึก  หรือความพึงพอใจของใครหรือสิ่งอื่นใด  มันมีค่าในตัว  หรือสำหรับตัวเองโดยไม่สัมพันธ์กับสิ่งอื่นนอกเหนือตัวมัน  สิ่งที่มีคุณค่าทางสุนทรียะย่อมมีคุณค่าทางสุนทรียะอยู่ดี  แม้ว่าไม่มีใครหรือสิ่งอื่นใดไปรับรู้มัน  เมื่อเรารับรู้  เราอาจเกิดความชอบหรือสนุกสนานเพลิดเพลิน  แต่ถ้าเราไม่รับรู้มัน  คุณค่าทางสุนทรียะของมันก็ยังคงอยู่  คุณค่าทางสุนทรียะคือคุณสมบัติที่ติดตัววัตถุ  และเป็นอิสระจากความรู้สึกของมนุษย์หรือสิ่งอื่นใดโดยนัยยะนี้ จัดเป็นวัตถุวิสัย

            ส่วนทฤษฎีที่แย้งแนวคิดข้างต้น  คือวัตถุจักมีคุณค่าทางสุนทรีย  ต้องได้รับการยินยอมหรือยอมรับว่างามจากผู้ชื่นชอบหรือชื่นชมความงามนั้นๆ หากไม่สามารถทำให้ผู้ชื่นชมศิลปะเข้าถึงความงามนั้นๆ ได้  ศิลปะย่อมไม่มีคุณค่า เพราะคุณค่าของศิลปะต้องมีเจตนาในการสื่อความงามสู่ผู้รับชมหรือชื่นชอบศิลปะ 

            สัมพัทธนิยมได้กล่าวถึงการประนีประนอมทั้งสองทฤษฎีเข้าด้วยกันเพราะเห็นว่าคุณค่าของความงาม  หรือศิลปะต้องประกอบไปด้วยวัตถุและผู้รับรู้วัตถุหรือศิลปะนั้นๆ จึงจักเกิดความชื่นชมหรือเข้าถึงความงามของศิลปะได้

            พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงความงามใน ๒ มิติคือ  ความงามในมิติทางธรรมและความงามมิติทางโลก 

ความงามในมิติทางธรรมหมายถึง  ความงามที่เป็นลักษณะของธรรม  หรือความจริงอันเป็นผลจากคุณภาพ  หรือคุณสมบัติของธรรมะ  ซึ่งปรากฏต่อการรับรู้ของมนุษย์ผู้มีญาณ  หรือแสดงออกทางพฤติกรรมของมนุษย์ผู้ทรงศีลทรงธรรม  ทำให้ผู้คนทั่วไปรับรู้  และเห็นได้ว่าเป็นผู้มีธรรมหรือผู้ที่งามโดยไม่จำกัดอายุ  เพศ  และวัย  ความงามของธรรม  จัดได้ว่าเป็นวัตถุวิสัย  เนื่องจากเป็นความงามซึ่งเป็นคุณสมบัติเชิงวัตถุวิสัยของธรรมอันปรากฏ  ปรากฏการณ์ความงามของธรรมจึงเป็นสิ่งสากลทุกคนที่รู้  หรือสัมผัสได้ย่อมมีความเข้าใจที่ตรงกัน  และแม้ว่าผู้คนจะไม่อาจรับรู้ได้  ความงามของธรรมะก็ยังคงเป็นเช่นนั้น

ความงามในมิติทางโลก  ซึ่งจัดเป็นความงามทางวัตถุ  พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นผลของการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างคุณภาพ  หรือคุณสมบัติของวัตถุกับกิเลส  คือ  ความพอใจ  หรือความยินดียินร้าย  ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดการปรุงแต่งตามแต่จริตของแต่ละคน    จึงเป็นความรู้สึกเกี่ยวกับความงามของวัตถุที่รับรู้  และอารมณ์ที่เข้ามากระทบแตกต่างกันไป  ตามอำนาจและอิทธิพลของกิเลสของแต่ละคน  สำหรับผู้ที่ไม่มีกิเลส  ย่อมไม่มีความรู้สึกงามอันเป็นไปในลักษณะการใคร่  หรือหลงใหลไปตามอำนาจกิเลสเลย  หากแต่รับรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบด้วยความมีสติอยู่ตลอดนั่นเอง  ฉะนั้น  ความงามในมิติทางโลก  หรือความงามทางวัตถุนี้  พระพุทธศาสนาถือว่า  เป็นจิตวิสัยอันเนื่องด้วยวัตถุวิสัย  และกล่าวถึงความงามในลักษณะนี้ตามโลกิยะ  หรือตามบัญญัติของโลกเท่านั้น  แต่ความงามลักษณะนี้หาเป็นความงามที่แท้จริงไม่  ซึ่งไม่มีคุณค่า  หรือเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตสำหรับผู้ต้องการเข้าถึงความงามที่แท้จริงแต่อย่างใด  เพราะความงามที่แท้จริง  ต้องเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์  เพื่อการดับกิเลส  เครื่องเศร้าหมองนั่นเอง โดยทรรศนะที่ใกล้เคียงกับพระพุทธศาสนามากที่สุดคือ แนวคิดแบบสัมพัทธนิยม  และศีลธรรมนิยม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕