หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.,ดร. ๒ » มัชฌิมวิถี: สันติวิธีวิถีพุทธ
 
เข้าชม : ๑๔๗๖๗ ครั้ง

''มัชฌิมวิถี: สันติวิธีวิถีพุทธ''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. (2556)

 โครงการปริญญาโท  สาขาสันติศึกษา
www.ps.mcu.ac.th

 

 http://www.komchadluek.net/mobile/detail/20131213/174801.html

       กลุ่มคนจำนวนมากที่ศึกษาแนวคิดและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับสันติวิธีมักอ้างอิงสันติวิธีของกลุ่มนักคิด และนักปฏิบัติต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นมหาตมะ คานธี และมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ในฐานะที่ประชาชนในสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และได้นำพระพุทธศาสนามาเป็นฐานในการปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรม และประเพณีไม่น้อยกว่า ๗๐๐ ปี คำถามมีว่า พุทธศาสนิกชนชาวไทยทราบหรือไม่ว่า สันติวิธีวิถีพุทธคืออะไร ประกอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนในการแสดงออกอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็น "สันติวิธีวิถีพุทธ"

       "สันติวิธีวิถีพุทธคือทางสายกลาง” ที่พระพุทธเจ้าทรงนำเสนอให้เป็นทางเลือกในการปฏิบัติเพื่อให้หลุดจากกับดักของทุกข์คือความขัดแย้งและความรุนแรง แนวทางนี้เป็นการปฏิเสธหนทางสุดโต่งทั้งสองด้าน คือ (๑) หนทางในการแสวงหา และแย่งชิงผลประโยชน์และความต้องการ เพื่อบำรุงบำเรอและสนองตอบต่อความอยากที่ไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ (๒) การทรมานตน โดยการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความทุกข์ยากลำบากให้แก่ตนเองด้วยวิธีการต่างๆ (ตบะ) ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าว่า การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ตัวเองบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่มุ่งหวัง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏชัดคือ สภาพจิตของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับทางสุดโต่งทั้งสองด้านย่อมเกิด “สภาวะขาดดุล” หรือ “สูญเสียดุล” จนทำให้ใจวิ่งวุ่นอยู่ในภาวะของความทุกข์ทรมานอันเกิดจากความอยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ โกรธ เกลียด เคียดแค้น ชิงชัง มุ่งมาตรปรารถนาร้าย ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเตือนว่า “ทางสุดโต่งทั้งสองด้านนี้เป็นธรรมอันเลว เป็นธรรมของคนผู้มีกิเลสหนา เป็นธรรมที่ไม่ประเสริฐ เป็นธรรมที่ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์

       “ทางสายกลาง” ถือได้ว่าเป็น "อริยมรรค" ซึ่งเป็นหนทางอันประเสริฐที่จะพาคู่ขัดแย้งออกจากกับดักของความรุนแรง และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขดังที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำว่า “ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อเข้าไปสงบระงับจากกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดี เพื่อความดับทุกข์” ด้วยเหตุนี้ “ทางสายกลาง” จึงถือว่าเป็น “สันติวิธีวิถีพุทธ” ที่ประกอบด้วยหนทางในการดับทุกข์คือความขัดแย้งและความรุนแรง สมุทัยคือสาเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง เพื่อให้เข้าถึงนิโรธ คือสันติ โดยใช้ “มรรค ๘” ซึ่งถือได้ว่าเป็น “สันติวิธีวิถีพุทธ” ที่ประกอบประกอบด้วยกระบวนการ และวิธีการที่สำคัญ ๘ ประการ ดังต่อไปนี้


       ๑. ความเข้าใจที่ถูกต้อง (Right Understanding) โดยเน้นกระบวนการสร้างสัมมาทิฐิให้เกิดขึ้น ประตูบานแรก คือ สร้างความรับรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวประเด็นปัญหา สาเหตุ เป้าประสงค์ที่มุ่งหวัง และวิธีดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่เบื้องแรก จะทำให้กลุ่มคนต่างๆ ได้มีโอกาสศึกษา และเรียนรู้ข้อเสนอของกันและกันว่า มีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติร่วมอย่างไร? ประเด็นสำคัญคือ ความเข้าใจชัดเจนในความเป็นเรา จะทำให้ง่ายต่อการเปิดพื้นที่ให้คนอื่น หรือกลุ่มอื่นได้พิจารณาข้อห่วงใยต่างๆ ด้วย ซึ่งการสร้างความเข้าใจร่วมกันอย่างถูกต้องจะก่อให้เกิดพลังสนับสนุน และการตอบรับจากกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมอย่างมากมายมหาศาล

       ๒. ความคิดที่ถูกต้อง (Right Thought) โดยการแสดงออกต้องไม่เป็นไปเพื่อความอยากได้อำนาจ หรือมุ่งผลประโยชน์และความต้องการส่วนตน หากแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง การไม่คิดผูกพยาบาท อาฆาตมาดร้าย และจองเวรจองกรรมต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และการไม่กระทำการที่นำไปสู่การเบียดเบียนตนเองและคนอื่นให้เกิดความทุกข์ทรมาน และเดือดร้อนอันเกิดจากการแสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

       ๓. การใช้การสื่อสารที่ถูกต้อง (Right Speech) เน้นการสื่อสารแบบสัมมวาจาโดยไม่ใช้วาจา หรือคำพูดที่แสดงออกด้วยการด่าทอ การใช้คำหยาบคาย การพูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียด การพูดปดมดเท็จ ดูถูกเหยียดหยาม การใส่ร้ายป้ายสีอันจะนำไปสู่การสร้างความโกรธเกลียด เคียดแค้น และชิงชังเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคม สัมมาวาจาจึงเป็นการสื่อสารด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ และประกอบด้วยเมตตา การสื่อสารด้วยคำพูดผ่านสื่อต่างๆ ที่เน้นแง่มุมเชิงบวกจะทำให้บรรยากาศการพูดคุย และหาทางออกเป็นไปได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะหลายครั้งการสื่อสารได้กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คู่กรณีนำมาขยายผล และเติมเชื้อไฟแห่งความเกลียดชังอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

       ๔. การแสดงท่าทีที่ถูกต้อง (Right Action) โดยการไม่ยุยง ส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงด้วยการทำร้ายประหัตประหารบุคคลอื่นที่มีความเชื่อและเห็นต่าง สังคมโลกและสังคมไทยมิได้สิ้นไร้ไม้ตอกและอับจนหนทางในการแสวงหาเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง หากแต่การท่าทีของคู่ขัดแย้งได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการหาทางออกร่วมกัน การแสดงท่าทีที่เปี่ยมล้นด้วยความรัก ให้เกียรติ และเคารพกลุ่มบุคคลความเชื่อและการกระทำที่แตกต่าง จะเป็นสะพานที่ทำให้คู่กรณีได้ทอดเดินข้ามพื้นที่ของตัวเองไปเรียนรู้ และพร้อมจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์มากยิ่งขึ้น

       ๕. ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง (Right Livelihood) ใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับธรรม และไม่คลาดเคลื่อนไปจากธรรม จะทำให้การดำเนินชีวิตมีคุณและมีความหมายมากยิ่งขึ้น แนวทางเหล่านี้จะกลายเป็นแบบอย่างของกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ทั้งในความเชื่อมั่น และเกิดแรงแรงบันดาลในการปฏิบัติภารกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน แบบอย่างที่เห็นได้ชัดคือการใช้ชีวิตที่เรียบงานของมหาตมะ คานธีได้กลายเป็นพลังและความศรัทธาของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม

       ๖. ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง (Right Effort) โดยการเพียรระวังไม่กระทำการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสม การเพียรละสิ่งไม่ถูกต้องและเหมาะสมที่ได้ดำเนินการอยู่ การเพียรรักษาสิ่งที่ดีและงดงามเอาไว้อย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาความจริง ความดี และความงามให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ การกระทำการในลักษณะนี้ จะก่อให้เกิดแนวร่วมอย่างยั่งยืนและมั่นคง และแนวร่วมเหล่านั้นพร้อมที่จะร่วมอุดมการณ์อย่างมั่นคงโดยไม่หวาดกลัวต่ออุปสรรคใดๆ ที่จะตามมา อีกทั้งจะทำให้คู่กรณีตระหนักรู้ถึงพลังของถึงความมุ่งมั่นของเรา

       ๗. การมีสติที่ถูกต้อง (Right Mindfulness) กำกับ ควบคุมและรู้เท่าทันความคิดของตนเอง ไม่กระทำการ หรือตัดสินสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความหุนหันพลันแล่นภายใต้อิทธิพลของไฟที่กำลังสุมใจ คือ ไฟคือความอยากได้ผลประโยชน์ และความต้องการ ไฟคือความโกรธเกลียด และไฟคือความหลง ในขณะที่เผชิญหน้ากับสถานการณ์ความกดดัน ยุ่งยาก และซับซ้อน ต้องใช้สติเป็นเครื่องมือในการกำกับ และตรวจสอบ ไม่ให้ประมาท ย่ามใจ และหลงไหลในชัยชนะ ซึ่งอาจจะก่อเกิดผลกระทบในเชิงลบตามมา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเตือนว่า "ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์ บุคคลละความชนะและความแพ้เสียแล้ว จึงสงบระงับ(เวร) นอนเป็นสุข"

       ๘.ความมุ่งมั่นในหนทางที่ถูกต้อง (Right Concentration) เป้าหมายของสันติวิธี คือ การปรากฏขึ้นของความสันติ ซึ่งผ่านการรับฟัง การยอมรับ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้น จำเป็นต้องเพ่ง จดจ่อ และมุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่ได้กำหนดทิศทางและวางกรอบเอาไว้ อีกทั้งไม่ย่อท้อ เหนื่อยหน่ายต่อปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาท้าทายต่อการพูดคุยเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดที่คู่กรณีสามารถรับได้ โดยไม่ยึดมั่นในทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราคนเดียวหรือกลุ่มเดียวเท่านั้น ถึงกระนั้น ในขณะที่เรามุ่งมั่นต่อเป้าหมายมากเพียงใด จำเป็นต้องใส่ใจต่อวิธีการ และความสัมพันธ์มากขึ้นเพียงนั้น


       สันติวิธีวิถีพุทธที่เน้นความถูกต้องทั้ง ๘ ประการข้างต้น ต้องเป็นวิธีการ และกระบวนการที่งดงามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ด้วยเหตุนี้ เป้าหมาย คือ "ความสันติสุข" ย่อมงดงามและก่อให้เกิดคุณแก่ชีวิตและสังคมเช่นกัน จะเห็นว่า เป้าหมายจะงดงามได้ย่อมเกิดจากตัววิธีการที่งดงาม ดังนั้น หากเป้าหมายที่เรามุ่งหวังจะให้มีและเป็นคือ "ความสันติ" ตัวเครื่องมือ วิธีการ และกระบวนการที่จะนำไปสู่ความสันติจำเป็นต้องสันติด้วย สันติวิธีวิถีพุทธจะไม่ยินยอมให้เกิดเงื่อนไขที่ว่า การจะได้มาซึ่งความสันติ เราจะใช้วิธีการ และกระบวนการอะไร หรืออย่างไรก็ได้ เพราะหากเราไม่สนใจวิธีการ และกระบวนการโดยยึดเป้าหมายเป็นสรณะแต่เพียงประการเดียว เราคงมีโอกาสได้ชิมลางเฉพาะสันติเทียมเท่านั้น ไม่มีวันที่จะเข้าถึงสันติแท้ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง เพราะจะนำไปสู่การทำลายล้างจองเวรซึ่งกันและกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำว่า "ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชนะย่อมได้รับการชนะตอบ ผู้ด่าย่อมได้รับการด่าตอบ และผู้โกรธเกลียดย่อมได้รับความโกรธเกลียดตอบ ฉะนั้น เพราะความหมุนเวียนแห่งกรรม ผู้แย่งชิงนั้น ย่อมถูกเขากลับแย่งชิงคืน

 

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕