Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Phradhammakosajan » ธ ทรงครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม
 
counter : 65996 time

''ธ ทรงครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม''
 
พระธรรมโกศาจารย์ (2550)

          วันนี้ พระสงฆ์นับพันรูปที่เป็นครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน พระนักเทศน์และพระนักเผยแผ่ที่ทำหน้าที่อยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้พร้อมใจกันมาร่วมประชุมสัมมนาที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารแห่งนี้ เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย

           การประชุมสัมมนาครั้งนี้ เป็นการรวมพลพระนักเทศน์นักเผยแผ่เพื่อสืบต่องานที่เราเริ่มสัมมนากันที่นี่เมื่อ ๒ ปีก่อน ในครั้งนั้นพวกเราเคยมีมติเสนอแนะแนวทางในการจัดตั้งศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้น ขอแจ้งความคืบหน้าต่อที่ประชุมนี้ว่า
           บัดนี้มหาเถรสมาคมได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติและศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด
           นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณ ๔๓๐ ล้านบาทให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยใช้ในการกำกับดูแลครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ๒๐,๐๐๐ รูปทั่วประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๐ นี้เป็นต้นไป ครูพระสอนศีลธรรมหลายรูปเกิดความปริวิตกว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะดูแลรับผิดชอบให้งานสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสมกับความไว้วางใจของทุกฝ่ายได้อย่างไร

พระสงฆ์ช่วยกันเทศน์เรื่องทศพิธราชธรรม
           การประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นการขว้างหินถามทางว่าครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนมีข้อขัดข้องหรืออุปสรรคอะไร และประสงค์จะให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย รับภาระดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร พวกเรามาประชุมสัมมนากันเพื่อเสนอแผนปฏิบัติการสำหรับครูพระ ๒๐,๐๐๐ รูปทั่วประเทศและเปิดโอกาสให้พระนักเผยแผ่ทั้งหลายจะได้พิจารณารายละเอียดว่า เมื่อมีศูนย์เผยแผ่ประจำจังหวัดแล้ว พระนักเทศน์นักเผยแผ่จะทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง ที่สำคัญมากก็คือว่าการประชุมสัมมนาครั้งนี้น่าจะช่วยให้พระนักเทศน์ นักเผยแผ่และครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนได้วางแผนเชิงกลยุทธ์ว่า เราจะรณรงค์เทศนาสั่งสอนเรื่องอะไรเป็นพิเศษให้เหมือนกันทั่วประเทศ
           เนื่องจากปีนี้เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา คณะสงฆ์ได้มีส่วนในการถวายพระพรชัยมงคลหลายอย่างหลายประการ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่พวกเราน่าจะมีมติให้พระนักเทศน์นักเผยแผ่และครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนได้ร่วมกันรณรงค์ไม่ใช่เฉพาะปี ๒๕๕๐ แต่ให้ทำต่อเนื่องตลอดไปทุกปี นั่นคือการเทศนาสั่งสอนให้คนไทยทุกคนน้อมนำเอาทศพิธราชธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาในปี ๒๕๕๐ นี้ พสกนิกรชาวไทยจะเฉลิมฉลองมหามงคลวโรกาสนี้อย่างมีสาระได้อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คนไทยจะบูชาคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ด้วยวิธีการอะไร
           คนไทยสามารถบูชาคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ๒ วิธี คือ
           (๑) อามิสบูชา บูชาด้วยสิ่งของ เช่น ถวายจตุปัจจัยโดยเสด็จพระราชกุศล และ
           (๒) ปฏิบัติบูชา ทำดีถวายในหลวง นั่นคือ ทำความดีตามรอยพระยุคลบาทด้วยการประพฤติปฏิบัติตามทศพิธราชธรรม
           พระนักเทศน์นักเผยแผ่และครูพระสอนศีลธรรมต้องช่วยกันสอนประชาชนทั้งหลายให้นำทศพิธราชธรรมมาเป็นหลักประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน นับเป็นการบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระเจ้าอยู่หัวด้วยปฏิบัติบูชาซึ่งมีคุณค่ายั่งยืนกว่าอามิสบูชา
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ต่อมาทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ในมหามงคลวโรกาสนี้ พระองค์ได้ทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการเป็นพระราชสัตยาธิษฐานว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
           คำว่า “ครองแผ่นดินโดยธรรม” ในที่นี้หมายถึง “ครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม”
           ทศพิธราชธรรมนี้มีที่มาจากนิทานชาดกเรื่องมหาหังสชาดก ในชาดกเรื่องนี้ พญาหงส์ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ได้สนทนาธรรมกับพระเจ้ากรุงพาราณสีเรื่องทศพิธราชธรรมหรือธรรมของพระราชา ๑๐ ประการ โดยพระเจ้ากรุงพาราณสีตรัสเล่าให้พญาหงส์ฟังว่า
           “เราพิจารณาเห็นธรรม ๑๐ ประการที่มีอยู่ในตัวเราเหล่านี้ คือ ทาน (๒) ศีล (๓) บริจาค (๔) อาชชวะ (๕) มัททวะ (๖) ตบะ (๗) อักโกธะ (๘) อวิหิงสา (๙) ขันติ (๑๐) อวิโรธนะ เมื่อนั้นปีติและโสมนัสมิใช่น้อยย่อมเกิดแก่เรา”
           พระนักเทศน์นักเผยแผ่คงอดสงสัยว่าทำไมทศพิธราชธรรมในมหาหังสชาดกนี้จึงได้มีอิทธิพลต่อรัฏฐาภิปาลโนบายหรือวิธีการปกครองบ้านเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบันมากยิ่งกว่าคำสอนเรื่องอื่น เช่น ราชสังคหวัตถุหรือจักรวรรดิวัตร

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์กับทศพิธราชธรรม
           เหตุที่ทศพิธราชธรรมในมหาหังสชาดกมีอิทธิพลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากมายขนาดนั้นก็เนื่องมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นกฎหมายหลักคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้ถูกใช้เป็นกฎหมายแม่บทมาก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนกระทั่งคำว่า “ธรรมศาสตร์” ในสมัยก่อนถูกใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า “นิติศาสตร์” ในสมัยนี้ ดังนั้นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ก็คือคัมภีร์นิติศาสตร์นั่นเอง


           พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตต้องถือปฏิบัติตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ดั้งเดิมของอินเดียมีชื่อว่าพระมนูธรรมศาสตร์ ซึ่งว่าด้วยวิธีการปกครองของคนในวรรณะกษัตริย์ตามหลักวรรณธรรมคือหน้าที่ประจำวรรณะในศาสนาพราหมณ์
           มอญและพม่าซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศอินเดียได้รับการถ่ายทอดแบบแผนการปกครองบ้านเมืองมาจากคัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย แต่เนื่องจากมอญและพม่านับถือพระพุทธศาสนาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนวรรณธรรมในศาสนาพราหมณ์ให้เป็นทศพิธราชธรรมในพระพุทธศาสนา นั่นคือแทนที่กษัตริย์จะต้องปฏิบัติตามวรรณธรรมในศาสนาพราหมณ์ก็เปลี่ยนเป็นว่ากษัตริย์จะต้องปฏิบัติตามทศพิธราชธรรมในพระพุทธศาสนา
           ผู้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ฉบับมอญคนหนึ่งมีชื่อว่าพระเจ้าฟ้ารั่วหรือที่เรารู้จักกันในนามว่ามะกะโท สมัยที่ยังเป็นหนุ่ม มะกะโทเป็นพ่อค้าได้เดินทางมาอาศัยอยู่ที่กรุงสุโขทัยกับนายช้างของสมเด็จพระร่วงเจ้า
           วันหนึ่งสมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จมาที่โรงช้างได้พบมอญหนุ่มคนนี้ ขณะที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับนายช้างได้บ้วนน้ำหมากลงบนพื้นและทอดพระเนตรเห็นเบี้ยหนี่งตกอยู่ ทรงหยิบขึ้นมาแล้วพระราชทานให้มะกะโท มอญหนุ่มดีใจมากที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเบี้ยหนึ่งให้ ก็คิดว่าจะทำอย่างไรกับเงินพระราชทานนี้ดี เขาตัดสินใจนำเบี้ยนี้ไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผักกาดในตลาด แม่ค้าไม่รู้ว่าจะตวงขายอย่างไรเพราะเงินน้อยมาก มะกะโทบอกว่าเราเอาแค่พอติดนิ้วเดียว แม่ค้าก็บอกว่าตามใจ มะกะโทจึงเอานิ้วใส่ปากให้นิ้วเปียกน้ำลายแล้วจุ่มเข้าไปที่ถังเมล็ดพันธุ์ผักกาด ปรากฏว่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดติดนิ้วขึ้นมาจำนวนมาก แม่ค้านึกชมว่าหนุ่มคนนี้ฉลาดจริง
           พระเจ้าฟ้ารั่วนี้ได้เรียบเรียงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของมอญเป็นภาษาบาลีและภาษามอญ ประเทศไทยได้นำคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ฉบับมอญมาปรับเป็นของไทยเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้เป็นกฎหมายแม่บทในการปกครองบ้านเมืองตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนกระทั่งพ.ศ. ๒๓๔๘ สมัยรัชกาลที่ ๑ จึงได้มีการชำระและแปลคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นภาษาไทย เรียกชื่อใหม่ว่า กฎหมายตราสามดวง เพราะเมื่อชำระแล้วได้ประทับตรา ๓ ดวง คือ ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว
           ความสำคัญของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ในสังคมไทยเริ่มลดลงไปเมื่อประเทศไทยเริ่มปฏิรูประบบกฎหมายบ้านเมืองตามแบบฝรั่งตะวันตก และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ก็แทบจะถูกลืมไปเลย
           ความสำคัญคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ถูกรื้อฟื้นกลับคืนมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ปลายสมัยรัชกาลที่ ๘ เมื่อกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรได้แสดงปาฐกถาหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ ๘ โดยมีพระอนุชาคือรัชกาลที่ ๙ ประทับร่วมฟังอยู่ด้วย
           ในการแสดงปาฐกถาครั้งนี้กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรได้กล่าวถึงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์กับสถานภาพของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต นับว่าเป็นปาฐกถาที่มีอิทธิพลทางความคิดมากในสมัยนั้นเพราะต่อมาองค์ปาฐกได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔
           การแสดงปาฐกถาครั้งนี้กล่าวถึงสถานภาพของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยโบราณ เนื้อหาปาฐกถานี้ห่านได้ในปัจจุบันเป็นฉบับภาษาอังกฤษ ในฉบับภาษาอังกฤษนั้นมีข้อความตอนหนึ่งว่า “Siamese Kings have ruled by the Thammasat...which served for a long time as the Siamese Constitution” แปลว่า “พระมหากษัตริย์สยามทรงปกครองบ้านเมืองด้วยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐธรรมนูญของสยามมาเป็นเวลาช้านาน”
           พระมหากษัตริย์สยามได้ปกครองบ้านเมืองมาด้วยคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ กฎหมายพระธรรมศาสตร์นี่แหละเป็นรัฐธรรมนูญของสยาม พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่ทรงใช้พระราชอำนาจตามกฎหมายบ้านเมืองที่เรียกว่าคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นธรรมิกราชคือเป็นพระราชาผู้ทรงธรรม“ทรงตั้งอยู่ในราชธรรม ๑๐ ประการ ทรงเบญจางคิกศีลเป็นปรกติศีลและอัษฏางคิกศีลเป็นอุโบสถศีล” หมายความว่าพระมหากษัตริย์ต้องตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม รักษาศีล ๕ เป็นปรกติ และรักษาอุโบสถศีลในวันพระ ๘ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ
           คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ช่วยกำกับการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในขอบเขตแห่งทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นหลักประกันว่าบ้านเมืองมีความสงบสุขยุติธรรม แม้พระมหากษัตริย์จะมีอำนาจล้นฟ้าสั่งประหารชีวิตคนได้ แต่จะไม่ใช้ทรงพระราชอำนาจล้นฟ้านั้นตามใจชอบ พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติตามกรอบแห่งกฎหมายแม่บทของบ้านเมืองสมัยโน้นคือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งกำหนดให้ต้องทรงปฏิบัติตามทศพิธราชธรรมหรือราชธรรม ๑๐ ประการ มี ทาน ศีล บริจาค เป็นต้น

ทศพิธราชธรรมต้องเป็นปรหิตปฏิบัติ
           พระนักเทศน์นักเผยแผ่ต้องตีบทให้แตกว่าทาน ศีล บริจาคเป็นต้นในทศพิธราชธรรมต่างจากทาน ศีล ภาวนาในบุญกิริยาวัตถุอย่างไร ทำไมทาน ศีล จึงเป็นทศพิธราชธรรมคือเป็นธรรมของผู้ปกครอง ชาวบ้านทั่วก็ให้ทานและรักษาศีล แต่ทานและศีลของชาวบ้านไม่เป็นธรรมของผู้ปกครองเพราะเหตุไร
           หลักในการพิจารณาความแตกต่างในเรื่องนี้มาจากการสรุปพระพุทธคุณเหลือ ๒ ประการ ดังนี้
           ๑. อัตตหิตสมบัติ การพัฒนาคุณสมบัติส่วนตัวให้บริบูรณ์
           ๒. ปรหิตปฏิบัติ การบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น
           ทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑ คือทานหมายถึงการให้ การให้ทานที่เป็นอัตตหิตสมบัติอย่างเดียวไม่เป็นทศพิธราชธรรม การให้ทานที่เป็นอัตตหิสมบัติเป็นการให้ทานที่ช่วยกำจัดกิเลสคือความตระหนี่ออกไปเพื่อทำให้ตัวเราดีขึ้น จึงเป็นบุญกิริยาวัตถุคือวิธีทำบุญเพื่อตัวเรา แต่การให้ทานที่เป็นปรหิตปฏิบัติคือทำความดีเพื่อช่วยเหลือคนอื่นด้วยจึงจะเป็นราชธรรมหรือธรรมสำหรับผู้ปกครอง
           การให้ทานที่มุ่งพัฒนาจิตใจของเราฝ่ายเดียวถือเป็นความดีส่วนตัวแบบอัตตหิสมบัติ ยังไม่จัดเป็นราชธรรม แต่การให้ทานเพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์คนอื่นตามหลักสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นราชธรรมหรือธรรมสำหรับผู้ปกครอง กล่าวให้ชัดก็คือการให้ทาน การรักษาศีล การบริจาคเป็นต้น จัดเป็นราชธรรมก็ต่อเมื่อเป็นปรหิตปฏิบัติคือเป็นธรรมที่ปฏิบัติเพื่อบำเพ็ญประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นสำคัญ พระราชาหรือผู้ปกครองต้องถือประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตัวเสมอ ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”
           การรักษาศีลก็เช่นเดียวกับทานคือมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัว(อัตตหิตสมบัติ)และเพื่อประโยชน์ส่วนรวม(ปรหิตปฏิบัติ) การที่พระสงฆ์รักษาศีล ๒๒๗ เพื่อพัฒนาจิตใจของตัวเองอย่างเดียวตามหลักการที่ว่าศีลทำให้สมาธิมีผลมากมีอานิสงส์มาก สมาธิทำให้ปัญญามีผลมากมีอานิสงส์มาก ปัญญาทำให้จิตหลุดพ้น การรักษาศีลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว(อัตตหิตสมบัติ)อย่างนี้ไม่จัดเป็นราชธรรม
           การพัฒนาศีลสมาธิปัญญาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียวทำให้คนเราเป็นเหมือนพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีศีลสมาธิและปัญญาบริบูรณ์ แต่แทนที่ท่านจะใช้ศีลสมาธิปัญญาเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน ท่านกลับใช้ศีลสมาธิปัญญาเพื่อตนเองเท่านั้น ฝรั่งจึงเรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า Silent Buddha แปลว่าพระพุทธเจ้าใบ้ คือบรรลุธรรมแล้วไม่ยอมสอนใคร
           สมัยนี้มีพระภิกษุประเภท Silent Monks คือพระใบ้มิใช่น้อย หลายรูปมีการศึกษาดีเป็นเปรียญเอกบ้าง พุทธศาสตรบัณฑิตบ้าง ศาสนศาสตรบัณฑิตบ้าง แต่อยู่วัดเฉยๆไม่ทำประโยชน์อะไร ไม่เทศน์ไม่สอน ไม่ลงทำวัตรสวดมนต์ ไม่รับภาระพระพุทธศาสนาใดๆ แม้พระภิกษุเหล่านี้จะมีอัตตหิตสมบัติ(คุณสมบัติส่วนตนบริบูรณ์)แต่ก็ขาดปรหิตปฏิบัติ(การบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น) พระผู้ใหญ่ย่อมไม่กล้าแต่งตั้งพระภิกษุเหล่านี้เป็นพระสังฆาธิการหรือผู้ปกครองคณะสงฆ์
           ครั้งหนึ่งคณะของผมไปประชุมสัมมนาเรื่องวินัยกับคณะสงฆ์มหายานที่ไต้หวัน ภิกษุณีไต้หวันรูปหนึ่งได้ตั้งคำถามในที่ประชุมด้วยการเล่านิทานเซนก่อน ดังนี้
           พระแก่กับพระหนุ่มชาวญี่ปุ่น ๒ รูปเดินทางไปด้วยกัน ระหว่างทางพบหญิงสาวแต่งชุดกิโมโนกำลังจะเดินข้ามน้ำโคลน พระแก่เห็นหญิงสาวคนนั้นถอยหน้าถอยหลังอยู่จึงอุ้มเธอพาข้ามน้ำโคลนไปแล้วก็วางเธอลงในที่ที่สะอาด จากนั้นท่านก็เดินทางต่อไปเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระหนุ่มเดินตามหลังไปพลางคิดในใจว่าหลวงพ่อนี่ไม่เคร่งเลย พระอุ้มผู้หญิงได้อย่างไร พอไปถึงวัดพระหนุ่มทนไม่ได้ก็ถามพระแก่ว่าทำไมท่านจึงอุ้มสีกา พระแก่ตอบว่า ผมวางสีกาลงตั้งนานแล้ว คุณยังไม่วางอีกหรือ
           เมื่อเล่านิทานจบลง ภิกษุณีรูปนั้นได้ถามพระสงฆ์ไทยว่า ถ้าพระสงฆ์เถรวาทอยู่ในเหตุการณ์นั้น ท่านจะยอมอุ้มสีกาคนนั้นหรือไม่
           เราควรทราบว่า พระสงฆ์มหายานถือศีลโพธิสัตว์มุ่งทำประโยชน์ผู้อื่นแบบปรหิตปฏิบัติ ถ้ามีคนจะเปื้อนโคลน ท่านต้องเสียสละอุ้มเขาข้ามน้ำโคลน สังคมยอมรับได้ เขาไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ พระสงฆ์เถรวาทจะอุ้มสีกาข้ามน้ำโคลนอย่างนั้นไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งในการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัยก็คือเพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส (อปฺปสนฺนานํ ปสาทาย) ประชาชนในประเทศเถรวาทถือการที่พระอุ้มสีกาเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าพระสงฆ์เถรวาทรูปใดอุ้มสีกาข้ามน้ำโคลนอย่างพระสงฆ์มหายานทำในนิทานเซนเรื่องนี้ ประชาชนจะหมดความเลื่อมใสเลิกใส่บาตรพระสงฆ์ทั้งวัดทันที เนื่องจากการอุ้มสีกาข้ามน้ำโคลนจะกระทบศรัทธาของชาวบ้านอย่างแรง เรียกว่าเป็นโลกวัชชะคือความผิดที่สังคมติเตียน พระสงฆ์เถรวาทจึงทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อเห็นแก่การรักษาศรัทธาของประชาชน พระสงฆ์เถรวาทจึงต้องยอมให้ผู้หญิงคนนั้นเดินลุยโคลนดีกว่าทำลายศรัทธาของคนทั้งเมือง ทัศนะแบบเถรวาทนี้เรียกว่าการรักษาศีลเพื่อปรหิตปฏิบัติคือถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
           ดังนั้น ทาน ศีล บริจาคเป็นต้นจะป็นทศพิธราชธรรมได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมุ่งประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นสำคัญ นั่นคือข้อปฏิบัติทั้ง ๑๐ ประการต้องเป็นปรหิตปฏิบัติด้วยจึงจะเป็นทศพิธราชธรรม
           การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ก็เท่ากับเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น(ปรหิตปฏิบัติ)นั่นเอง
           ราชธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถือปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวไทยตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมาก็คือทศพิธราชธรรมหรือธรรมของพระราชา ๑๐ ประการ ดังมีรายละเอียดและกรณีตัวอย่างต่อไปนี้
           ๑. ทาน การให้
           ทานคือการให้ทรัพย์สินสิ่งของและธรรมเพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ เป็นการให้เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ตามหลักสังคหวัตถุ ๔ เป็นสำคัญ
           วิธีการให้ทานแบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ (๑) อามิสทาน การให้สิ่งของ และ (๒) ธรรมทาน (การให้ธรรมเป็นทาน) หรือวิทยาทาน (การให้ความรู้เป็นทาน)
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญทานเพื่อพสกนิกรของพระองค์มาโดยตลอด ทั้งที่เป็นอามิสทานและธรรมทานคือการให้สิ่งของและการให้คำแนะนำ พระราชกรณียกิจในการบำเพ็ญทานของพระองค์สอดคล้องกับราชสังคหวัตถุข้อที่ ๑ คือ สัสสเมธะ หมายถึงความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร
           โครงการพัฒนาชนบทโครงการแรกเกิดขึ้นในปี ๒๔๙๕ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานรถบุลโดเซอร์ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนไปสร้างถนนเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เดินทางและนำผลผลิตจากไร่นาออกไปขายที่ตลาดได้สะดวกขึ้น
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมการเกษตรด้วยโครงการฝนหลวงที่คนไทยทุกวันนี้รู้จักกันดี โครงการนี้ถือกำเนิดขึ้นมาจากแนวพระราชดำริที่ได้จากการเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ ดังพระราชบันทึกตอนหนึ่งว่า
           “ขณะนั้นข้าพเจ้าได้แหงนดูท้องฟ้า และพบว่ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นพัดผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป วิธีแก้ไขอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้เมฆเหล่านั้นตกลงมาเป็นฝนในท้องถิ่นนั้น ความคิดนั้นเป็น

จุดเริ่มต้นของโครงการทำฝนเทียม ซึ่งประสบความสำเร็จในอีก 2-3 ปี ต่อมาในภายหลัง”
           ปัจจุบันมีโครงการพระราชดำริที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรของพระองค์กว่า ๔,๐๐๐ โครงการ โครงการเหล่านี้คือตัวอย่างของการบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑ คือ ทานในส่วนที่เป็นอามิสทานคือการให้สิ่งของ
           นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงบำเพ็ญวิทยาทานและธรรมทานอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างสำคัญแห่งการบำเพ็ญวิทยาทานที่ทั่วโลกยกย่องคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและกังหันน้ำชัยพัฒนา โดยเฉพาะกังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีเติมอากาศซึ่งเกิดจากพระปรีชาสามารถและพระราชดำริของพระองค์
           กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ นับแต่นั้นมา วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นวันนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติกำหนดให้วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เป็นวันนักประดิษฐ์โลกขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๘๐ พรรษา
           ในการบำเพ็ญธรรมทานต่อพสกนิกรนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอดแทรกธรรมไว้ในพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือธรรมโดยตรง นั่นคือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ว่า
           “หนังสือเรื่องนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้าเอง เป็นสิ่งที่เห็นว่ามีความสำคัญและโดยที่เป็นผู้ที่ทำขึ้นมา ถ้าไม่มีตัวเราเอง มีแต่ชาดกแล้วก็มีแต่ชาดกภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาบาลี มีแต่ชาดกอาจจะเป็นภาษาอังกฤษที่เขาแปลมาจากภาษาบาลี ใครไปอ่านก็ไม่รู้เรื่องและไม่มีความหมายอะไรมากนัก”
           การที่ทรงบำเพ็ญทานทั้งที่เป็นอามิสทานและธรรมทานดังกล่าวมานี้จัดเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑ คือทานซึ่งเป็นปรหิตปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวไทย
           ๒. ศีล ความประพฤติเรียบร้อยดีงาม
           ศีล คือการสำรวมระวังรักษาพฤติกรรมทางกายและทางวาจาให้ถูกต้องเรียบร้อยดีงามทั้งที่เป็นอัตตหิตสมบัติคือความดีงามส่วนตัวและปรหิตปฏิบัติคือความดีงามเพื่อส่วนรวม
           การรักษาศีลที่เป็นทศพิธราชธรรมนั้นต้องเป็นปรหิตปฏิบัติด้วย คือ ผู้ปกครองต้องมีภาพแห่งความซื่อสัตย์สุจริต สามารถทำตนเป็นแบบอย่างและเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ไม่ทุจริตคอรัปชั่น พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ปกครองต้องมีชื่อเสียงเกียรติคุณอันดีงามโดยไม่มีประวัติด่างพร้อย
           ผู้ปกครองต้องมีสีลสามัญญตาคือความมีศีลเสมอกันกับสมาชิกในสังคม หมายความว่าต้องรักษาระเบียบกติกาและปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปโดยไม่มีข้อยกเว้น ผู้ปกครองต้องไม่ทำตัวให้อยู่เหนือกฎหมายเพราะถือตัวว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จ
           เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กำลังจะเสด็จประพาสยุโรปในปี ๒๔๔๐ คงจะป็นที่ห่วงใยกันทั่วไปว่าพระองค์อาจจะถูกของร้องให้เปลี่ยนศาสนาเมื่อไปถึงยุโรป รัชกาลที่ ๕ จึงทรงประกาศปฏิญญาในที่ประชุมมหาสมาคม ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ดังนี้
           “ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญาณตนต่อหน้าพระสงฆ์เถรานุเถระทั้งหลาย อันประชุมอยู่ ณ ที่ว่านั้น การที่ข้าพเจ้าคิดจะไปประเทศยุโรป ณ ครั้งนี้ ด้วยข้าพเจ้ามุ่งต่อความดีแห่งพระราชอาณาจักรและด้วยความหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะรักษาตนให้สมควรแก่ที่เป็นเจ้าของประชาชนชาวสยามทั้งปวง จะรักษาเกียรติยศแห่งพระราชอาณาจักรอันเป็นเอกราชนครนี้ จนสุดกำลังที่ข้าพเจ้าจะป้องก้นได้ และเพื่อจะให้เป็นเครื่องเตือนใจตัวข้าพเจ้า และเป็นเครื่องเย็นใจแห่งผู้ซึ่งมีความรักใคร่มุ่งหมายความดีต่อข้าพเจ้า ปราศจากวิตกกังวลใจด้วยความประพฤติรักษาของข้าพเจ้า ๆ จึงขอสมาทานข้อทั้งหลายที่จะกล่าวต่อไปนี้
           ๑. ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตยินดีน้อมไปในศาสดาอื่น นอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมอันพระองค์ได้ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่ อันได้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยเป็นอันขาด จนตราบกว่าสิ้นชีวิต
           ๒. การที่ข้าพเจ้าไปครั้งนี้ แม้ว่าจะช้านานเท่าใดก็ดี ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมประเวณีด้วยสตรีใดจนกลับเข้ามาถึงในพระราชอาณาเขต
           ๓. ถึงแม้ว่าจะไปในประเทศซึ่งเขาถือกันว่า การให้สุราเมรัยไม่รับเป็นการเสียกิริยาอันดีฤาเพื่อป้องกันโรคภัยอันเปลี่ยนอากาศเป็นต้น ข้าพเจ้าจะไม่เสพสุราเมรัยให้มึนเมาเสียสติ ฤาแม้แต่มีกายวิกลเกินปรกติเป็นอันขาด”
           การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงทำปฏิญญาอย่างนี้ถือเป็นตัวอย่างของการรักษาศีลที่เป็นทศพิธราชธรรมเพราะมุ่งปรหิตปฏิบัติคือประโยชน์ส่วนรวม
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่ทรงปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป คุณฟื้น บุณยปรัตยุธ อดีตนายอำเภอปทุมวัน นายทะเบียนในวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเล่าว่า
           “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและม.ร.ว.สิริกิติ์ ทรงจดทะเบียนสมรสเฉกเช่นคู่สมรสทั่วไป สมุดทะเบียนสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นพิเศษ ปกสมุดหุ้มด้วยหนังแกะอ่อนสีเหลืองเข้ม กลางปกเป็นหนังสีน้ำตาล มีอักษรตัวทองบอกว่าเป็นสมุดทะเบียนสมรส ข้อความในสมุดทะเบียนทุกอย่างคงเป็นเหมือนสมุดทะเบียนสมรสทั่วไป เกี่ยวกับการจดทะเบียนนี้ พระองค์ท่านทรงทำตามระเบียบทุกอย่างไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท ตามระเบียบถูกต้อง"
           พระพุทธเจ้าตรัสว่ากลิ่นแห่งศีลของคนดีนั้นหอมกว่ากลิ่นหอมของดอกไม้ใดๆ ดังพุทธพจน์ในธรรมบทที่ว่า
           “กลิ่นดอกไม้ ทวนลมไม่ได้ กลิ่นจันทน์ กฤษณา กระลำพักก็ทวนลมไม่ได้
           ส่วนกลิ่นของคนดีหอมทวนลมได้ คนดีฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ
           บรรดากลิ่นหอมทั้งหลายเช่นกลิ่นของไม้จันทน์ กฤษณา อุบล และมะลิ กลิ่นแห่งศีลยอดเยี่ยมที่สุด”
           กลิ่นแห่งศีลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศานุทิศ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวามหาราช พสกนิกรทั่วไปต่างพร้อมใจกันรักษาศีลปฏิบัติธรรมตามรอยพระยุคลบาท หลายคนพากันอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล

           พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุมีอยู่ตามวัดทั่วประเทศ ในช่วงวิสาขบูชาปี ๒๕๕๐ สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (เทพวงศ์ ) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกัมพูชา เสด็จมาที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ท่านเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชตั้งอยู่ติดกับโต๊ะหมู่บูชาที่วิหารหลวงพ่อพระพุทธนาค สมเด็จพระสังฆราชแห่งกัมพูชากล่าวเปรยว่าท่านอยากได้พระบรมฉายาลักษณ์นี้มานานแล้วแต่ไม่ทราบว่าจะหาได้ที่ไหน เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสจึงยกพระบรมฉายาลักษณ์นั้นถวายท่านทันที ท่านรับด้วยความปีติยินดียิ่งและกล่าว่าเป็นของขวัญที่ถูกใจท่านมากที่สุด
           กลิ่นแห่งศีลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันหอมฟุ้งทวนลมไปทั่วทุกทิศานุทิศทั้งภายในและภายนอกพระราชอาณาจักรไทยก็เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรมข้อที่ ๒ คือ ศีลนั่นเอง
           ๓. บริจาค เสียสละความสุขสบายส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม
           ทศพิธราชธรรมข้อนี้เป็นเรื่องของกิเลสจาคะคือสละกิเลส เช่นสละความเห็นแก่ตัวหรือความสุขสบายส่วนตัวเพื่อทำประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน การปฏิบัติธรรมข้อนี้มุ่ง ปรหิตปฏิบัติคือยึดประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นที่ตั้ง ดังพุทธพจน์ในธรรมบทที่ว่า
           “ถ้าเห็นว่า จะได้สุขอันยิ่งใหญ่ด้วยการสละสุขเล็กๆ น้อยๆ
           นักปราชญ์ก็ควรสละสุขเล็กน้อยเพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่”
           เนื่องจากทศพิธราชธรรมข้อบริจาคนี้เป็นเรื่องกิเลสจาคะหมายถึงการสละกิเลสจึงต่างจากทศพิธราชธรรมข้อทานซึ่งเป็นเรื่องของอามิสจาคะหมายถึงการสละสิ่งของ ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างทานและบริจาคไว้ว่า ทานเป็นการสละที่ต้องมีผู้รับ เช่น เราตักบาตรก็ต้องมีพระรับบาตร แต่บริจาคคือการสละกิเลส เช่นสละความเห็นแก่ตัว ไม่ต้องมีผู้รับ
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อบริจาคด้วยการสละความสุขสบายส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม

           ใครนั่งรถผ่านพระตำหนักจิตรลดารโหฐานคงจะเห็นกังหันลม ตั้งอยู่อย่างนั้นมานานแล้ว นั่นเป็นเครื่องหมายของโครงการพระราชดำริ ผมเคยเข้าไปสอนหนังสือที่โรงเรียนสวนจิตรลดา บางครั้งเจอชาวบ้านถือเคียวถืองอบนั่งเคี้ยวหมากอยู่ริมคันนาในวังสวนจิตรลดา ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าชาวนาเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ปลอมเป็นชาวนาหรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบว่า นี่แหละชาวนาจริงๆ ในหลวงทรงให้มาดำนาเกี่ยวข้าวที่แปลงนาทดลองในวัง พันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากที่นี่ก็เอาไปหว่านในพิธีแรกนาขวัญที่สนามหลวง
           ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศคนหนึ่งได้รายงานด้วยความประหลาดใจว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐานไม่มีสิ่งหรูหราฟุ้งเฟ้อใดๆที่พระราชวังทั่วโลกมักจะมีกัน เขาพบแต่แปลงนาปลูกข้าวและโครงการพระราชดำริต่างๆ ผู้สื่อข่าวคนนี้จึงสรุปในรายงานว่า หมดสมัยแล้วที่กษัตริย์ยุคปัจจุบันจะเป็นมหาราชด้วยการกรีฑาทัพยึดครองดินแดนของอริราชศัตรู ถ้ากษัตริย์สมัยนี้ต้องการจะเป็นมหาราชก็ต้องเอาอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชของไทยที่ทรงเป็นมหาราชเพราะทรงประกาศสงครามกับความทุกข์ยากของพสกนิกรชาวไทย
           เมื่อคนเรามีความเห็นแก่ตัวน้อยลงก็จะคิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่นมากขึ้นโดยอัตโนมัติ หลวงวิจิตรวาทการกล่าวสรุปไว้ในหนังสือเรื่องกุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่ ว่า “การจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่นั้นง่ายนิดเดียวคือต้องเห็นแก่ตัวให้น้อยหน่อยเท่านั้น”
           เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละความสุขสบายส่วนพระองค์ด้วยการบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อบริจาค พระราชหฤทัยของพระองค์จึงเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร พระองค์ทรงงานหนักเพื่อราษฎรโดยไม่มีวันหยุด ในหนังสือเรื่องพระธรรมิกราชของชาวไทย จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากรเ มื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
           “ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯทรงรับฟังความทุกข์ราษฎรจากปากคำของราษฎรยังบ้านของราษฎรเองและทรงงานเพื่อราษฎรโดยไม่มีวันหยุดมาแล้วเป็นเวลาหกสิบปี ครั้งหนึ่งสำนักราชเลขาธิการได้เคยบันทึกไว้ว่าในแต่ละปีเสด็จฯออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจราว ๕๐๐-๖๐๐ ครั้งรวมเป็นระยะทางประมาณ ๒๕,๐๐๐ ถึง ๓๐,๐๐๐ กิโลเมตร”
           ร้อยเอกศรีรัตน์ หริรักษ์ เล่าไว้ในบทความ "พระบารมีปกเกล้าฯ ที่อำเภอท่ายาง" ตีพิมพ์ ในหนังสือ ๗๒ พรรษาบรมราชาธิราชเจ้านักรัฐศาสตร์ ดังนี้
           “ครั้งหนึ่งที่โครงการห้วยสัตว์ใหญ่เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ราษฎรและข้าราชการที่มาเข้าแถวรอรับเสด็จต่างเปียกปอนกันหมดแต่ก็ยังตั้งแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่อย่างนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงจากเฮลิคอปเตอร์ นายตำรวจราชองครักษ์ที่ตามเสด็จได้เข้ากางร่มถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นบรรดาข้าราชการและราษฎรที่มายืน ตั้งแถวรอรับเสด็จอยู่ต่างก็เปียกฝนโดยทั่วกัน จึงมีรับสั่งให้นายตำรวจราชองครักษ์เก็บร่มแล้วทรงพระดำเนินเยี่ยมข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเสด็จโดยทรงเปียกฝนเช่นเดียวกับข้าราชการและราษฎรทั้งหลายที่ยืนรอรับเสด็จในขณะนั้น”
           เหล่านี้คือตัวอย่างของพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่แสดงออกถึงการบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อบริจาคคือเสียสละความสุขสบายส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม
           ๔. อาชชวะ ความซื่อตรง
           อาชชวะ ความซื่อตรงคือความซื่อสัตย์สุจริต บอกความจริงแก่ประชาชน ไม่ฉ้อฉลหลอกลวง ไม่ทุจริตคอรัปชั่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอธิบายความหมายของความซื่อสัตย์สุจริตในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานไว้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ว่า
           “มีคุณธรรมข้อหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งท่านต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ คือ ความสัตย์สุจริต ประเทศบ้านเมืองจะวัฒนาถาวรอยู่ได้ ก็ย่อมอาศัยความสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน ท่านทั้งหลายจะออกไปรับราชการก็ดี หรือประกอบกิจการงานส่วนตัวก็ดี ขอให้มั่นอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๓ ประการคือ สุจริตต่อบ้านเมือง สุจริตต่อประชาชน และสุจริตต่อหน้าที่”
           พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าผู้นำมีความซื่อสัตย์สุจริตก็จะพาให้ผู้ตามมีความซื่อสัตย์สุจริตไปด้วย ดังพระบาลีว่า “คุนฺนญฺเจ ตรมานานํ” เป็นต้น แปลความว่า “เมื่อฝูงโคว่ายข้ามน้ำ ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคหมดทั้งฝูงนั้นก็ไปตรงตามกัน เพราะมีผู้นำที่ไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น บุคคลผู้ได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ หากบุคคลผู้นั้นประพฤติชอบธรรม หมู่ประชาชนนอกนั้นก็จะพลอยดำเนินตามทั้งแว่นแคว้นก็จะอยู่เป็นสุข หากผู้ปกครองตั้งอยู่ในธรรม”
           มีการสรุปพุทธพจน์นี้เป็นโคลงบทหนึ่งว่า
           ยามฝูงโคข้ามฟาก นที
           โคโจกนำตรงดี ไป่เลี้ยว
           ปวงโคอื่นจรลี รีบเร่ง
           ทั้งหมดไม่คดเคี้ยว ไต่เต้าตามกัน
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรมข้ออาชชวะ เพราะทรงมีความซื่อสัตย์สุจริตด้วยพระองค์ด้วยและทรงสอนให้คนอื่นซื่อสัตย์สุจริตด้วยดังกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่ว่า
           “การพัฒนาชนบทเป็นงานสำคัญ เป็นงานยาก เป็นงานที่จะต้องทำให้ได้ด้วยความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาด คือต้องเฉลียวและฉลาด ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่มุ่งที่จะหากินด้วยวิธีการใดๆใครอยากจะหากินขอให้ลาออกตำแหน่งไปทำการค้าดีกว่า เพราะถ้าทำผิดพลาดไปแล้ว บ้านเมืองจะล่มจม และเมื่อบ้านเมืองเราล่มจมแล้วเราอยู่ไม่ได้ ก็เท่ากับเสียหมดทุกอย่าง”
           ตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงความสุจริตต่อประชาชนและสุจริตต่อหน้าที่ให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ ดังมีการบันทึกถึงเหตุการณ์ขณะเสด็จฯกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๙ ต่อไปนี้
           ตลอดทางที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จอย่างล้นหลาม ในหลวงได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่แสดงความจงรักภักดี บางแห่งใกล้จนทอดพระเนตรเห็นดวงหน้าและแววตาชัด ที่บ่งบอกถึงความเสียขวัญอย่างใหญ่หลวง ทั้งเต็มไปด้วยความรักและห่วงใย อันเป็นภาพที่ทำให้อยากรับสั่งกับเขาทุกคน ถึงความหวังดีที่ทรงเข้าพระทัย และขอบใจเขาเช่นกัน ขวัญของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าขาดกำลังใจ ถ้าขวัญเสียมีแต่ความหวาดระแวง ประเทศจะมีแต่ความอ่อนแอและแตกสลาย
           ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ก็มีเสียงหนึ่งที่ตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน”
           ในขณะนั้นทรงนึกตอบในพระทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร”
           เป็นเรื่องน่าประหลาดที่ว่า ต่อมาอีกประมาณ ๒๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบชายที่ร้องตะโกนทูลพระองค์ไม่ให้ทิ้งประชาชน ตอนที่ร้องตะโกนนั้นเขาเป็นพลทหาร และตอนที่ทรงพบครั้งนี้ เขากำลังทำนาอยู่ต่างจังหวัด
           เขากราบบังคมทูลว่า ตอนที่เขาร้องตะโกนนั้น เขารู้สึกว้าเหว่และใจหาย ที่เห็นพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปจากเมืองไทย กลัวจะไม่เสด็จกลับมาอีก เพราะคงจะทรงเข็ดเมืองไทย เห็นเป็นเมืองที่น่ากลัวน่าสยดสยอง เขาดีใจมากที่ได้เฝ้าฯ อีก
           เขากราบบังคมทูลถามว่า"ท่านคงจำผมไม่ได้ ผมเป็นคนร้องไม่ให้ท่านทิ้งประชาชน”
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า "เราน่ะรึที่ร้อง"
           "ใช่ครับ ตอนนั้นเห็นหน้าท่านเศร้ามาก กลัวจะไม่กลับมา จึงร้องไปเหมือนคนบ้า”
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบว่า "นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา”
           จวบจนบัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงดำรงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมข้อที่ว่าด้วยอาชชวะคือความซื่อตรงนั่นเอง
           ๕. มัททวะ ความอ่อนโยน
           มัททวะเป็นการปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อย ไม่เย่อหยิ่งหลงตัวเอง มัททวะเป็นความแข็งแรงแต่ไม่แข็งกระด้างและเป็นความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ
           ผู้นำมี ๒ ประเภทคือ (๑) ผู้นำที่นั่งอยู่บนหัวคน และ (๒) ผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจคน
           ผู้นำที่นั่งอยู่บนหัวคนชอบใช้ความแข็งกระด้างกดขี่คนอื่น
           ผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจคนชอบใช้ความอ่อนโยนผูกมัดใจคน ดังโคลงโลกนิติที่ว่า
           อ่อนหวานมานมิตรล้น เหลือหลาย
           หยาบบ่มีเกลอกราย เกลื่อนใกล้
           ดุจดวงศศิฉาย ดาวดาษ ประดับนา
           สุริยะส่องดาราไร้ เมื่อร้อนแรงแสง
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำที่ประทับอยู่ในหัวใจคน ทรงเป็นศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติเพราะทรงมีพระราชอัธยาศัยเปี่ยมล้นด้วยมัททวะคือความอ่อนโยน ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าฯเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ เกี่ยวกับการตามเสด็จในตอนต้นรัชกาล ซึ่งครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังทรงเยาว์พระชันษา ทรงยังไม่แน่พระทัยว่าจะวางพระองค์อย่างไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในเรื่องของความอ่อนโยน ดังนี้

           "เวลามีพระราชปฏิสันถารกับราษฎร ซึ่งเป็นชั่วโมงๆ ทีเดียว ทรงคุยกับราษฏรนี่ไม่โปรดทรงยืน ทรงถือขนบธรรมเนียมไทยที่จะไม่ยืนค้ำผู้เฒ่าผู้แก่จะประทับลงรับสั่งกับราษฏรเสมอมา แม้จะเป็นตอนเที่ยงแดดร้อนเปรี้ยงก็ตามซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นพระราชจริยวัตรนี้มาตั้งแต่ตอนต้นรัชกาลแล้ว"
           พวกเราคงเคยเห็นภาพหนึ่งจนชินตา เป็นภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโน้มพระองค์ไปรับดอกบัวจากคุณยายคนหนึ่ง ดอกบัวก็เหี่ยว คนถวายก็แก่ นี่เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความอ่อนโยนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
           เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่จังหวัดนครพนมเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ วันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมในช่วงเช้าแล้วเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งกลับไปประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ราษฎรที่รู้ข่าวก็พากันอุ้มลูกจูงหลานมารับเสด็จที่ริมถนนอย่างเนืองแน่น ลูกหลานครอบครัวจันทนิตย์ช่วยกันนำแม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ อายุ ๑๐๒ ปีไปรอรับเสด็จ ณ จุดรับเสด็จตั้งแต่เช้า ลูกหลานได้จัดหาดอกบัวสายสีชมพูให้แม่เฒ่าจำนวน ๓ ดอกและพาออกไปรอที่แถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่สุด เปลวแดดร้อนแรงตั้งแต่เช้าจนบ่ายแผดเผาจนดอกบัวสายในมือเริ่มเหี่ยวโรย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาถึงตรงหน้า แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายที่เหี่ยวโรย ๓ ดอกนั้นขึ้นเหนือศีรษะแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง ในหลวงทรงโน้มพระองค์อย่างต่ำที่สุดจนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าอย่างอ่อนโยน
           นี่คือภาพตัวอย่างของมัททวะคือความอ่อนโยนในพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพนี้ชวนให้นึกถึงภาษิตอังกฤษที่ว่า “ผู้ดีที่สุดจะสุภาพที่สุด ผู้เข้มแข็งที่สุดจะอ่อนโยนที่สุด”
           ราษฎรที่ได้เข้าเฝ้าฯใกล้ชิดทุกคนต่างประทับใจในความอ่อนโยนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทะภิกขุ) เล่าไว้เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๐ ว่า
           "มีคนที่นราธิวาสคนหนึ่ง ชื่อนายอ้วน แกเป็นกำนันเก่า เป็นคนดีอยู่ในศีลในธรรมเรียบร้อยมากแล้วก็ขยันทำมาหากิน มีสวนเงาะสวนยาง ไม่รู้เรื่องอะไร ในหลวงเสด็จไปสวนตาคนนี้ ได้ไปนั่งคุยกันใต้ต้นเงาะใหญ่ เป็นเวลาตั้งชั่วโมง ปลื้มใจ ทนไม่ได้ต้องเขียนจดหมายมาเล่าให้อาตมาฟัง บอกว่าเจ้าคุณเอ๋ยตั้งแต่เกิดมาเป็นนายอ้วน ไม่มีตอนไหนที่จะดีใจเท่าตอนนี้ ดีใจที่ในหลวงเข้าไปในสวนแล้วไปนั่งไต่ถามความเป็นอยู่ของชาวบ้านในท้องถิ่น แกบอกว่าถึงแม้จะตายไปก็ไม่เสียดายแล้วชาตินี้ เพราะว่าได้สนทนากับในหลวงแล้วปลื้มใจนักหนา”
           มีตัวอย่างอีกมากมายชนิดเล่าไม่รู้จบที่ราษฎรประทับใจในทศพิธราชธรรมข้อมัททวะคือความอ่อนโยนของในหลวง
           ๖. ตบะ ความเพียรเผากิเลส
           ตบะคือความเพียรเผากิเลสตัณหา ไม่หลงระเริงไปกับคำสรรเสริญเยินยอและความสำเริงสำราญที่มาพร้อมกับอำนาจวาสนาจนลืมปฏิบัติหน้าที่ให้บริบูรณ์ ผู้นำที่มีตบะจะสามารถควบคุมจิตใจให้พอใจกับความเรียบง่าย เขาเป็นคนที่ได้ดีแล้วไม่ลืมตัว เขาอยู่อย่างไม่ตามใจกิเลสตัณหา แม้จะมีเงินทองมากมาย เขาก็ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญตบะจึงทรงพอพระทัยกับชีวิตที่เรียบง่ายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงพระราชทานแก่ชาวไทย พระองค์เองทรงเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ดังที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เล่าไว้ว่า
           “วันหนึ่งเสด็จฯ เขาค้อเปิดอนุสาวรีย์ พอเปิดอนุสาวรีย์เสร็จ พระองค์ท่านก็ขอกลับไปที่พระตำหนักเพื่อจะทรงเปลี่ยนฉลองพระบาท เพราะเดี๋ยวจะไปดูงานในป่าในดง เราก็ไม่ได้ทานข้าว ไม่มีใครทานข้าว ตอนนั้นบ่ายสองโมงแล้ว ก่อนจะเปลี่ยนฉลองพระบาทสักยี่สิบนาที น่าจะพุ้ยข้าวกันทัน ก็รีบวิ่งไปที่ห้องอาหารที่เตรียมไว้ ปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้ตามเสด็จฯ เขาทานกันหมดแล้ว ในนั้นจึงเหลือข้าวผัดติดก้นกระบะกับมีไข่ดาวทิ้งแห้งไว้อยู่ ๓-๔ ใบ เราก็ตัก เห็นมีข้าวอยู่จานหนึ่งวางไว้ มีข้าวผัดเหมือนอย่างเรา ไข่ดาวโปะใบหนึ่ง มีน้ำปลาถ้วยหนึ่งวางอยู่ เพื่อนผมก็จะไปหยิบมา มหาดเล็กบอกว่า "ไม่ได้ ๆ ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก"ดูสิครับ ตักมาจากก้นกระบะเลย ผมนี่แทบน้ำตาไหลเลย ท่านเสวยเหมือนๆ กันกับเรา”
           ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหลักการอยู่ ๓ ประการ
           ๑. มัตตัญญูตา ความรู้จักพอประมาณ
           ๒. ความมีเหตุผลคือมัชฌิมาปฏิปทา รู้จักเดินทางสายกลาง
           ๓. มีภูมิคุ้มกัน ๒ อย่าง คือ (๑) มีปัญญารู้เท่าทันสามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด และ (๒) มีคุณธรรมโดยเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานชีวิต
           การบำเพ็ญตบะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้พระองค์ทรงดำรงชีวิตอย่างรู้จักพอประมาณซึ่งเป็นหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง หลักฐานประการหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือหลอดยาสีพระทนต์หรือหลอดยาสีฟันของในหลวงที่ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ส่วนพระองค์กล่าวถึงในการให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ ดังนี้
           "ครั้งหนึ่งเคยกราบทูลท่านว่า ลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยฟุ่มเฟือยมาก กระเป๋าถือต้องใช้ของนอกมีแบรนด์เนม บางคนไม่มีเงินซื้อก็ไปเช่าที่สยามสแควร์เดือนละพันสองพัน ไม่เหมือนสมเด็จพระเทพฯ ท่านสะพายอะไรก็ได้ วันก่อนเข้าไปในห้องสรงสมเด็จพระเทพฯ เห็นหลอดยาสีพระทนต์ สมเด็จพระเทพฯ ทรงรีดใช้จนเกลี้ยงหลอด
           พระองค์ท่านตรัสว่า "ของเราก็มี วันก่อนนี้ยังใช้ไม่หมด มหาดเล็กมาทำความสะอาด ห้องสรง คิดว่าหมดแล้วมาเอาไปแล้วเปลี่ยนหลอดใหม่มาให้ เราบอกให้ไปตามกลับมา เรายังใช้ต่อได้อีก ๕ วัน"
           หลังจากนั้นท่านผู้หญิงเพ็ชราได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มหาดเล็กนำมาพระราชทานให้ท่านถึงบ้าน เมื่อได้เห็นหลอดยาสีพระทนต์ ท่านก็ต้องรู้สึกแปลกใจที่หลอดยาสีพระทนต์นั้นแบนราบเรียบตลอดคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดนั้นปรากฏรอยบุ๋มลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด
           เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯอีกครั้งในเวลาต่อมา ท่านผู้หญิงเพ็ชราจึงได้รับพระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า หลอดยาสีพระทนต์ที่แบนราบเรียบและมีรอยบุ๋มนั้น เพราะทรงใช้แปรงสีพระทนต์รีดและกดที่คอหลอด
           พระมหากษัตริย์ผู้ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้อตบะเท่านั้นจึงจะสามารถใช้หลอดยาสีพระทนต์ได้คุ้มค่าขนาดนั้น
           ๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ
           อักโกธะ แปลว่าความไม่โกรธ ความหมายโดยตรงก็คือความเมตตาต่อคนทั่วไป ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของความโกรธ ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ มีความสุขที่ได้พบปะประชาชนทั่วไปอย่างใกล้ชิด
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีเมตตาคือความรักต่อพสกนิกร พระองค์ทรงมีความสำราญพระราชหฤทัยทัยที่ได้ทรงพบปะกับราษฎรของพระองค์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวว่า
           “เท่าที่ผมทราบมา ไม่มีอะไรที่จะทำให้ทั้งสองพระองค์สำราญพระราชหฤทัยเกินไปกว่า การที่ได้ทรงพบประชาราษฎรของพระองค์ แม้จะใกล้หรือไกลก็ตามที ตามที่เคยมีคำพังเพยแต่ก่อนว่า รัชกาลที่ ๑ โปรดทหาร รัชกาลที่ ๒ โปรดกวีและศิลปิน รัชกาลที่ ๓ โปรดช่างก่อสร้าง(วัด) ผมกล้าต่อให้ได้ว่า รัชกาลที่๙ โปรดราษฎร และคนที่เข้าเฝ้าฯได้ใกล้ชิดที่สุดคือราษฎรมิใช่ใครอื่นที่ไหนเลย”
           พระเมตตาคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์จัดเป็นอัปปมัญญา คือไม่จำกัดขอบเขต ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ไม่ถือเขาถือเรา ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ดังนั้น คนไทยทั้งแผ่นดินไม่ว่าจะเป็นชาวเขาชาวเรา ชาวพุทธชาวมุสลิมต่างก็รักในหลวง วาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรี เป็นสักขีพยานที่ดีในเรื่องพระเมตตาคุณไม่จำกัดขอบเขตนี้
           วาเด็ง ปูเต๊ะ ผู้เฒ่าวัย ๙๒ ปี แห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เล่าว่า เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ทหารกลุ่มหนึ่งมาตามที่บ้านบอกให้เขาไปพบในหลวง ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรความเป็นไปได้ในการสร้างอาคารกั้นน้ำที่คลองน้ำจืดบ้านทุ่งเค็จ อำเภอสายบุรี วาเด็ง ปูเต๊ะจึงได้เฝ้าในหลวงเป็นครั้งแรก เขาเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้น ดังนี้
           “ตอนนั้นผมทราบแล้วว่า เป็นในหลวง แต่จะเข้าไปใกล้ๆ ก็ไม่กล้า เพราะว่า นุ่งโสร่งตัวเดียว ไม่ได้สวมเสื้อ พอเข้าไปใกล้ๆ ในหลวงก็บอกว่า จะมาขุดคลองชลประทานให้ พอได้ยินอย่างนั้น ผมก็ดีใจมาก คุยกันเยอะ ท่านถามว่า ถ้าขุดคลองสายทุ่งเค็จนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน ผมบอกท่านว่า คลองเส้นนี้มีที่ดินติดเขตตำบลแป้น ทางเหนือขึ้นไปสุดที อำเภอศรีสาคร ในหลวงถามต่อว่า ถ้าไปออกทะเลจะมีกี่เกาะ ผมก็ตอบท่านไปว่า มี ๔ เกาะ ท่านก็ชมว่าเก่งสามารถจำทุกที่ที่ผ่านไปได้ แล้วท่านก็เปิดดูแผนที่ที่นำมาด้วย แล้วบอกว่า ผมรู้จริง ไม่โกหก ทุกสิ่งที่ผมบอกมีอยู่ในแผนที่ของพระองค์แล้ว
           ในหลวงคุยกับผมเป็นภาษามลายู ท่านพูดมลายูสำเนียงไทรบุรี คุยกันก็เข้าใจเลย พอเจอกันบ่อยๆ คุยกัน มีความเห็นตรงกัน ท่านก็เลยรับผมเป็นพระสหาย ผมบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่บอกท่านไปทั้งหมดเป็นความจริง พูดโกหกไม่ได้จะเป็นบาป ”
           ยิ่งไปกว่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังสอนให้พสกนิกรของพระองค์รู้ รัก สามัคคีมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พระองค์ทรงสอนให้คนไทยมีคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรัก ความสามัคคี ๔ ประการ ดังนี้
           “ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
           ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ
           ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน
           ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล”
           ในพระราชดำรัสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำสาราณียธรรม ๖ ประการในพระพุทธศาสนามาปรับใช้และพระราชทานพระบรมราชาธิบายเพิ่มเติมได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้
           ถ้าพสกนิกรทุกหมู่เหล่าน้อมรับกระแสพระราชดำรัสนี้และปฏิบัติทศพิธราชธรรมข้ออักโกธะหรือความเมตตาตามรอยพระยุคลบาท ประเทศไทยก็จะมีความเจริญมั่นคงดำรงอยู่ต่อไปได้อีกนานแสนนาน
           ๘. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน
           อวิหิงสา แปลว่าความไม่เบียดเบียน หมายถึงความกรุณาต่อคนทั่วไป ไม่หาเรื่องกดขี่ข่มเหงหรือลงอาญาแผ่นดินโดยปราศจากเหตุอันควร สงสารหวั่นใจเมื่อเห็นความทุกข์ของประชาชนและหาหนทางที่จะดับทุกข์เข็ญของพวกเขา
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณคือมีความสงสารเห็นใจต่อพสกนิกรของพระองค์จึงทรงมีโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อช่วยเหลือราษฎร ไม่ใช่เฉพาะชาวชนบทในที่ทุรกันดารเท่านั้นที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แม้แต่ชาวกรุงเทพมหานครก็ได้รับพระบารมีปกแผ่ด้วยเช่นกัน ดังที่กรณีน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริโครงการแก้มลิงเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
           โครงการแก้มลิงมีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า "ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง" โครงการนี้มีการวางแผนใช้พื้นที่แก้มลิงรวบรวมน้ำ รับน้ำ และดึงน้ำที่ท่วมขังพื้นที่กรุงเทพมหานครตอนบนมาเก็บไว้ พร้อมกับระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้น - ลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกและการสูบน้ำที่เหมาะสมสอดคล้องกับโครงการแก้มลิง
           เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยจนลุกลามนองเลือดกลายเป็นพฤษภาทมิฬในปี ๒๕๓๕ ประชาชนผู้เดือดร้อนต่างหวังพึ่งพระบารมีเพื่อสลายความขัดแย้งในครั้งนั้น ภาพที่ในหลวงทรงห้ามคู่กรณีไม่ให้ทะเลาะกันยังประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคน กระแสพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องจดจำตลอดไป โดยเฉพาะตอนที่ว่า

           “ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่ เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือดปฏิบัติการรุนแรงต่อกันแล้วมันลืมตัว ลงท้ายไม่รู้ตีกันเพราะอะไร แล้วจะแก้ไขปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้คือต่างคนต่างแพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร สมมติว่ากรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวเองว่าชนะเวลายืนอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง”
           กระแสพระราชดำรัสนี้เป็นเหมือนวาจาสิทธิ์ที่ยุติความขัดแย้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้ชะงัดเพราะทรงเปล่งมาจากพระราชหฤทัยที่เต็มเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรมข้ออวิหิงสาคือพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์นั่นเอง
           ๙. ขันติ ความอดทน
           ขันติคือความอดทนต่ออนิฏฐารมณ์คือสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาหรือไม่น่าพอใจ เมื่อต้องประสบสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาหรือไม่น่าพอใจก็สามารถควบคุมกิริยาอาการให้นิ่งสงบอยู่ได้ เป็นนายเหนือสถานการณ์ ไม่แสดงอาการหงุดหงิดทุรนทุรายหรือแสดงความไม่พอใจจนออกนอกหน้า
           ผู้นำที่ดีต้องมีความอดทนสามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้ดีในทุกสถานการณ์ เขาใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ดังโคลงโลกนิติที่ว่า
           นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย
           เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า
           พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง
           ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี
           ความอดทนแบ่งออกเป็น ๓ อย่างคือ
           (๑) ทนลำบาก หมายถึงทนต่อทุกขเวทนาทางกาย เช่น ความเจ็บปวด
           (๒) ทนตรากตรำ หมายถึงทนหนาว ทนร้อน หนักเอาเบาสู้
           (๓) ทนเจ็บใจ หมายถึง ทนต่อถ้อยคำยั่วยุเย้ยหยันหรือคำนินทาว่าร้าย
           ผู้นำต้องพร้อมที่จะเผชิญต่อสภาวะที่ไม่พึงปรารถนารอบด้านเหมือนกับช้างศึกที่เข้าสู่สนามรบแล้วต้องทนต่อลูกศรที่ยิงใส่มาจากสี่ทิศ
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานหนักมากว่า ๖๐ ปี บางครั้งแม้จะทรงลำบากตรากตรำเพียงใดก็ไม่หยุดบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ดังที่ครั้งหนึ่งทรงมีรับสั่งเล่าเรื่องถูกยุงกัดไว้ว่า
           “ที่บางจาก แต่ไม่มีจากหรอกนะ ยุงชุมมากเลย ไปยืนดูแผนที่ เลยโดนยุงรุมกัดขาทั้งสองข้าง กลับมาขาบวมแดง ไปสกลนครกลับมาแล้วถึงได้ยุบลง มองเห็นเป็นตุ่มแดง ลองนับดูได้ข้างละร้อยห้าสิบตุ่ม สองข้างรวมสามร้อยพอดี”
           ท่านพุทธทาสภิกขุอธิบายความหมายของความทนเจ็บใจไว้ว่า เป็นผู้ใหญ่ต้องทนต่อความโง่ของผู้น้อยได้
           เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปพบปะราษฎรทั่วประเทศ บางครั้งก็ต้องทรงพบกับความเชยความเปิ่นของชาวบ้านที่ต้องทรงอดทนและรับได้ ดังเรื่องต่อไปนี้
           ครั้งหนึ่งที่ภาคอีสาน เมื่อในหลวงเสด็จฯขึ้นไปทรงเยี่ยมบนบ้านของราษฎรผู้หนึ่งที่คณะผู้ตามเสด็จทั้งหลายออกแปลกใจในการกราบบังคมทูลที่คล่องแคล่วและใช้ราชาศัพท์ได้อย่างน่าฉงน
           เมื่อในหลวงมีพระราชปฏิสันถารถึงการใช้ราชาศัพท์ได้ดีนี้ ราษฎรผู้นั้นกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเป็นโต้โผลิเกเก่า บัดนี้มีอายุมากจึงเลิกรามาทำนาทำสวน พระพุทธเจ้าข้า”
           ในหลวงทรงพบนกในกรงที่เขาเลี้ยงไว้ที่ชานเรือน ก็ตรัสถามว่า เป็นนกอะไรและมีกี่ตัว
           พ่อโต้โผลิเกเก่ากราบบังคมทูลว่า “มีทั้งหมดสามตัว พระมเหสีมันบินหนีไป ทิ้งพระโอรสไว้สองตัว ตัวหนึ่งที่ยังเล็ก ตรัสอ้อแอ้อยู่เลย และทิ้งให้พระบิดาเลี้ยงดูแต่ผู้เดียว”
           พสกนิกรชาวไทยจะรับรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์จนชินตาถึงภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับนิ่งสงบนานนับชั่วโมงขณะทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีต่างๆ
           ภาพแห่งความสงบนิ่งนี้สะท้อนถึงทศพิธราชธรรมข้อขันติคือความอดทนในพระราชหฤทัย
           ๑๐. อวิโรธนะ ความไม่คลาดจากธรรม
           อวิโรธนะหมายถึงการยึดมั่นในหลักการปกครอง หลักนิติธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ โดยไม่ประพฤติปฏิบัติให้ผิดเพี้ยนไปจากหลักการเหล่านั้น
           ผู้ปกครองจะมั่นคงอยู่ในหลักการเช่นนั้นได้ต้องมีปัญญารู้เท่าทันสถานการณ์และตัดสินสั่งการโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอคติคือความลำเอียง ๔ ประการ ได้แก่
           (๑) ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
           (๒) โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
           (๓) โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง
           (๔) ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
           สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยเมื่อต้นปี ๒๕๔๙ เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงยึดมั่นในอวิโรธนะคือความไม่คลาดจากธรรม
           หลายคนคงจำได้ว่ามีเสียงเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา ๗ แต่งตั้งนายกรัฐมตรีพระราชทาน ผู้เรียกร้องได้อ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗ ที่บัญญัติว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
           ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมตรีพระราชทานไว้ว่า
           “ขอยืนยันว่า ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่างอย่าง ที่เขาขอร้องให้มีนายกฯพระราชทาน ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายกฯ แบบที่มีการรับสนองพระบรมราชโองการถูกต้องทุกครั้ง มีคนเขาอาจจะมาบอกว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ นี่ทำตามใจชอบ ซึ่งไม่เคยทำอะไรตามใจชอบเลย
           ตั้งแต่เป็นพระมหากษัตริย์ มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำตามใจชอบ บ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ ว่าทำอะไรตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่มันไม่ต้องทำ”
           พระราชดำรัสที่ว่า “ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ...ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ” นี้แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมข้ออวิโรธนะคือความไม่คลาดจากธรรมตลอดเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติกว่า ๖๐ ปี

สรุปทศพิธราชธรรม
           ทศพิธราชธรรมที่กล่าวมาทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือไตรสิกขาได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
           ทศพิธราชธรรมข้อต่อไปนี้คือ (๑)ทาน (๒) ศีล และ(๘) อวิหิงสา จัดเป็นศีล
           ทศพิธราชธรรมข้อต่อไปนี้คือ (๓) บริจาค (๔) อาชชวะ (๕) มัททวะ (๖) ตบะ (๗) อักโกธะ และ (๙) ขันติ จัดเป็นสมาธิ
           ทศพิธราชธรรมข้อ (๑๐) อวิโรธนะ จัดเป็นปัญญา
           แม้ทศพิธราชธรรมจะสรุปลงในไตรสิกขา แต่ก็เป็นไตรสิกขาที่มุ่งปรหิตปฏิบัติคือการบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อผู้อื่นเป็นสำคัญ ไม่ใช่แค่อัตตหิตสมบัติหรือการทำความดีส่วนตัว ซึ่งเหมือนกับการที่พระภิกษุบางรูปเรียนจบหลักสูตรวิชาการเทศนาจากสำนักวัดประยุรวงศาวาสไปแล้วก็ไม่ทำการเทศนาสั่งสอนต่อไป ความรู้ความสามารถในการเทศนาของท่านก็เป็นเพียงแค่อัตตหิตสมบัติหรือความดีส่วนตัว แต่พระภิกษุรูปใดเรียนจบหลักสูตรวิชาการเทศนาแล้วก็นำความรู้ความสามารถไปเทศนาสั่งสอนประชาชนต่อไป ท่านรูปนั้นชื่อว่าเป็นพระนักเทศน์นักเผยแผ่เพราะมีปรหิตปฏิบัติคือการบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อสังคม
           พระนักเทศน์นักเผยแผ่ที่มีธรรมมัจฉริยะคือตระหนี่ธรรมเก็บความรู้เรื่องทศพิธราชธรรมไว้กับตัวคนเดียว ก็เหมือนคนจุดเทียนเล่มเดียวไม่ยอมแบ่งแสงสว่างให้ใคร แสงสว่างก็มีน้อยเพราะอยู่ในที่จำกัด แต่ถ้าพระนักเทศน์นักเผยแผ่ช่วยกันเทศนาสั่งสอนเรื่องทศพิธราชธรรมในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ประชาชนชาวไทยทุกระดับชั้นจะได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถประยุกต์ใช้ทศพิธราชธรรมในชีวิตประจำวันตามรอยพระยุคลบาท เหมือนการจุดเทียนต่อๆกันไป ยิ่งทำให้แสงสว่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น
           ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ประชาชนชาวไทยได้รับการถ่ายโอนพระราชอำนาจมาใช้บริหารและปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความผิดพลาดประการหนึ่งก็คือไม่มีการถ่ายโอนพระราชธรรม ๑๐ ประการมาให้ประชาชนได้ประยุกต์ใช้ในการบริหารและการปกครองบ้านเมือง
           พระนักเทศน์นักเผยแผ่ทั้งหลายต้องช่วยกันรณรงค์เทศนาสั่งสอนให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้นำทศพิธราชธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโดยดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชผู้ทรงเป็นธรรมิกราชคือผู้ทรงครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม
           ท้ายที่สุดนี้ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและอานุภาพของหลวงพ่อพระพุทธนาคในพระวิหารพร้อมทั้งพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารแห่งนี้จงมารวมกันเป็นตบะ เดชะ พลวปัจจัย อำนวยอวยพรให้การประชุมสัมมนาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงบรรลุตามวัตถุประสงค์ทุกประการ
           ขอทุกท่านที่เข้าร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้จงมีความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิทธมตฺถุ สิทธมตฺถุ สิทธมตฺถุ ปรารถนาสิ่งหนึ่งประการใดที่ชอบประกอบด้วยธรรม ก็ขอให้ความปรารถนาเหล่านั้นจงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ จงพลันสำเร็จ สมมโนรถมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ ตลอดกาลนานเทอญ
(Source: เรียบเรียงจากปาฐกถาเปิดการประชุมสัมมนาพระนักเผยแผ่ทั่วประเทศ )
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012